จะว่าไปแล้วปี "เสือ" นี้ นอกจากเป็น "เสือที่หิวโซ" แล้วยังเป็น "เสือดุ" อีกด้วยครับ จึงนับเป็นคราวเคราะห์ของประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะช่วงต้นปีต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความ
"ขัดแย้งทางการเมือง" อย่างหนัก
ถึงขนาดเผาบ้านเผาเมืองเสียชื่อ "สยามเมืองยิ้ม" ไปทั่วโลก ก่อนจะเผชิญกับปัญหา "ภัยแล้ง" และตามติดด้วยปัญหา "น้ำท่วม" ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งวิกฤติการณ์ที่เกี่ยวกับ "น้ำ" นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นครับ เห็นได้จากตัวเลขความเสียหายที่ได้จากการสำรวจข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่ามีจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวม 1,210,968 ครัวเรือน หรือคิดประชากรเป็น
3,774,789 ราย นี่ยังไม่นับรวมถึงกับสารพัดปัญหาที่จะตามมาหลังช่วงน้ำลด ที่ถูกคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า
จะเข้าสู่ช่วง "ข้าวยาก หมากแพง" กันอีกระรอกครับ แต่นอกเหนือสิ่งอื่นใด เรื่องที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์เจาะลึกให้เป็นเรื่องเป็นราวกันเสียที
คงหนีไม่พ้น การวางแผนรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกี่ยวกับ "น้ำ" (ทั้งน้ำแล้ง - น้ำท่วม) แบบบูรณาการ ที่ต้องเริ่มทำจริงจังและเป็นระบบ ไม่ใช่ทำแบบวัวหายล้อมคอกเหมือนที่ผ่านมา
ที่เลวร้ายคือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างคนต่างทำ จนเม็ดเงินที่ใช้ในการดำเนินงานจำนวนหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี
ดูเหมือนจะละลายไปกับสายน้ำ
"อุทกภัย" น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนภัยให้รับรู้รับทราบถึงการขาดความสมดุลย์ในระบบนิเวศน์ที่เราอาศัยอยู่
นอกจากความช่วยเหลือแบบ "ผักชีโรยหน้า" (แต่ก็จำเป็นต้องทำ)โดยการรณรงค์บริจาคเงินสิ่งของช่วยเหลือของสื่อต่าง ๆ
ดำเนินไปชุลมุนพอสมควร มีการแจก "ถุงยังชีพ" ในสถานที่ต่าง ๆ ก็เป็นข่าวครึกโครมทางสื่อแล้วก็ยัง ตามมาด้วยมาตรการเยียวยาเบื้องต้นโดยการผ่อนชำระหนี้ของบรรดาสถาบันการเงินภาครัฐและภาคเอกชน
นักวิเคราะห์ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในเบื้องต้นอย่างน้อย 2-3 หมื่นล้าน (แต่ลึก
ๆ ผมเชื่อว่าอาจจะบานปลายออกไปถึง 2 - 3 แสนล้าน
ที่จะต้องตามมาในปีหน้า เพื่อซ่อมสร้างอาคารบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่เสียหาย)
ถึงแม้ผู้นำรัฐบาลและบรรดาเจ้ากระทรวงต่าง ๆ สำทับว่าจะต้องวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวทั้งระบบ
ซึ่งอาจจะหมายถึงนโยบายอันหลากหลายที่คงจะคึกคักคึกครื้นไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เรื่องจึงค่อย
ๆ เงียบลงไปพร้อมกับระดับน้ำที่ลดลงอีกครั้งหนึ่งครับ
แม้มีความสับสนพอประมาณกับวิกฤติการณ์
"น้ำท่วม" ใหญ่ในครั้งนี้แต่ก็สัมผัสได้ว่า ผลกระทบที่ตามมาอีกหลากหลายมิติของวิกฤติการณ์ในคราวนี้ได้ขยายออกไปมากกว่าครั้งใด
ๆ ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน ป่าไม้ เขื่อน โครงข่ายแม่น้ำลำคลองและถนน ที่พอ "น้ำลดตอก็ผุด"ขึ้นออกมาให้เป็นภาพกว้าง
ถึงแม้เป็นเรื่องหากดูผิวเผินว่าเป็นละเรื่อง (ดูเหมือนว่าจะแยกออกจากกัน) ทว่ามีมิติเชื่อมโยงกันเป็นระบบ
เช่นเดียวกับ วิกฤตการณ์ "น้ำ" ทั้งแล้งและน้ำท่วม ที่ในปัจจุบันเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นติด
ๆ กัน
หากพิจารณากันให้ลึกถึงแก่นแล้วจะพบว่าแท้จริงแล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมระบบใหญ่ที่ครอบงำทั้งประเทศต่างหากที่มีปัญหา ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ,สังคมประเทศไทยที่ผ่านมาในอดีตนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน
(รวมทั้งผม) เชื่อว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญทั้งในด้านวิสัยทัศน์ (Vision) และกระบวนทัศน์
(Mission ) น่าจะเริ่มต้นที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของชาติฉบับที่ 1 โดยการนำของท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามเวียดนาม (2507-2518) เป็นผลพวงจากการแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
สังคมและการเมืองของสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
ได้กระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (จากกลุ่มธุรกิจจากตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ แล้วตามมาด้วยญี่ปุ่น ฯลฯ) เข้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลานั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ของโลกก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตมนุษย์
"โครงสร้างของทั้ง
ระบบเศรษฐกิจและสังคม" ได้รับผลกระทบแบบตรง
ๆ เต็ม ๆ จากปรากฏการณ์ "พาราดาร์มชิพ" ครั้งสำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการพัฒนาอย่างมากในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ
ที่เน้นการเชื่อมโครงข่ายระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทที่ห่างไกล การไหลทะลักเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ
รวมไปถึงการไหลทะลักของประชาชนย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมือง และการเติบโตของธุรกิจทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค
สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อว่าเกี่ยวอะไรกับวิกฤติการณ์ "น้ำท่วม" ที่ดูผิวเผินว่าไม่เกี่ยว
แต่ก็เกี่ยวแบบตรง ๆ เต็ม ๆ ครับ
|