วิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ใช้เงิน
"ยูโร" ได้ลุกลามบานปลายขยายตัวออกไปก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินใน "ไอร์แลนด์" กำลังส่งผลให้เกิดสภาวะวิกฤติศรัทธาต่อระบบธนาคารและสถาบันการเงินของ "ไอร์แลนด์" ทั้งระบบตามมา และกำลังจะลุกลามระบาดออกไปในกลุ่มประเทศที่ใช้เงิน
"ยูโร" อื่น ๆ จนในที่สุดรัฐบาล "ไอร์ริช" จำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือเร่งด่วนจากธนาคารกลางแห่งยุโรป
(อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นไม่ใช่เฉพาะกับระบบการเงินของ "ไอร์แลนด์" แต่กำลังที่ส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วยุโรป
นายแดเนียล กรอส หัวหน้าศูนย์ศึกษา
"นโยบายยุโรป" ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ให้ความเห็นว่า ตราบใดที่ปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข วิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นใน
"ไอร์แลนด์"เปรียบเสมือน "โรคระบาด" ก็จะลุกลามไปยังประเทศใน "อียู" อื่น ๆ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าแนวทางในการปฏิบัติต่อวิกฤติการณ์ทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ใช้เงิน
"ยูโร" ในเวลานี้ (ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นที่
"กรีซ") ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
เป็นแค่เพียงการซื้อเวลา อีกทั้งยังเป็นการย้ายปัญหาแบบหมกเม็ดไปเรื่อย ๆ ลุกลามไปในแต่ละประเทศ
ที่เป็นเสมือน "ระเบิดเวลา" ที่รอการจุดชนวน
เกิดเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินต่อเนื่องในลักษณะ "โดมิโน" จนกระทั่งอาจล่มสลายลงทั้งระบบ
ผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤติการณ์ทางการเงินดังกล่าวทำให้ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
มีลูกค้าระดับองค์กรใหญ่ ๆ ถอนเงินออกจากธนาคาร หลายจากธนาคารหลายแห่งใน "ไอร์แลนด์" กันเป็นจำนวนมาก อาทิ อัลไลด์ ไอริช แบงก์ (เอไอบี) ถูกถอนเงินออกไป 13,000 ล้านยูโร,แบงก์ ออฟ ไอแลนด์ 10,000 ล้านยูโรและไอริช
ไลฟ์แอนด์เพอร์มาเนนท์อีก 600 ล้านยูโรและอีกหลายองค์กรใหญ่ ๆ ก็ยังคงทยอยถอนเงินออกกันอย่างต่อเนื่อง
เกิดอาการ "เลือดไหลออกไม่หยุด" ซึ่งหากควบคุมกันไม่ดีก็จะอันตรายมากครับ
จากวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นได้มีการประมาณกันคร่าว
ๆ ว่าเงินช่วยเหลือที่ "อีซีบี"และ "ไอเอ็มเอฟ" ได้ตกลงในหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือต่อวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นใน "ไอร์แลนด์" (เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามบานปลายออกไปนั้น)
ซึ่งในขณะนี้จะยังไม่มีใครทราบได้แน่ชัดว่าเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ จนกว่าทางการ "ไอร์แลนด์", "อีซีบี" และ "ไอเอ็มเอฟ" จะประชุมสรุปร่วมกันเพื่อตรวจสอบสถานะภาพและเสถียรภาพของบรรดาธนาคารทั้งหลายที่ต่างตกอยู่ในสภาพระส่ำระส่ายกันอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตามได้มีการคาดการณ์กันว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินช่วยเหลืออย่างน้อย 45,000
ล้านยูโร (หรืออาจจะบานออกไปมากถึง 90,000 ล้านยูโร)
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างกังวลว่าวิกฤติการณ์ทางการเงินของ
"ไอร์แลนด์" กำลังจะลุกลามออกไปไม่หยุดได้โดยง่ายแน่
นอกจากนั้นยังคาดการณ์กันเอาไว้ว่า "โปรตุเกส" (และ "สเปน") ก็อาจจะเป็นเป้าต่อไป
แถมยังมีอีกหลายชาติที่เข้าคิวรอกันอยู่ ทั้งนี้ในการสำรวจความคิดเห็นของบรรดานักการธนาคารระหว่างการประชุมสมัชชาการธนาคารระดับสูงที่นครแฟรงก์เฟิร์ตเมื่อไม่นานมานี้
ชี้ชัดว่า นักการธนาคารมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ มีความเห็นตรงกันว่าถึงแม้ "ไอร์แลนด์" จะได้รับความช่วยเหลือแล้ว
ปัญหาก็จะยังลุกลามต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีสถานภาพทางการเงินการคลังที่อ่อนแอขาดเสถียรภาพ
อีกหลายต่อหลายประเทศในยุโรป
มาถึงตอนนี้ผมก็อดนึกถึงแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" (Sufficiency Economy) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกที่มีดีกรีถึงรางวัลโนเบล เช่น ศาตราจารย์โจเซฟ
สติกลิตส์ ก็ยังยอมรับถึงแก่นสาระ (Principal) ของความ "พอเพียง" ว่าจะเป็นหนึ่งใน "ทางเลือกอันเป็นทางรอด" ของระบบ "ทุนนิยมใหม่" ในอนาคต หากกลุ่มประเทศใน "อียู" สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้แบบ "น้ำไม่เต็มแก้ว" เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระองค์ท่านบ้าง ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ
|