วิกฤติการณ์ทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นใน
"ไอร์แลนด์" น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เป็นอย่างดีว่า "หนี้" ที่ชาว "ไอร์ริช" ร่วมด้วยช่วยกันกู้โดยย่ามใจอย่างไม่รอบคอบขาดการระมัดระวังนั้น จากชัยมงคลคาถา
"เยธัมมาฯ" ที่ว่าด้วย "ธรรม(ชาติ) ใดเกิดแต่เหตุฯ" ปัจจุบันได้กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทำให้ "ไอร์แลนด์" จำเป็นต้อง "ยินยอม" สูญเสีย
"อธิปไตยทางการเงิน - การคลัง" จะว่ากันไปแล้วผมว่าคนไทยก็ได้เรียนรู้และคงไม่มีวันลืมความเจ็บปวดกับการสูญเสีย
"อธิปไตยทางการเงิน - การคลัง" ในสมัยวิกฤติการณ์ทางการเงิน
"ต้มยำกุ้ง" ที่ "พ่อใหญ่จิ๋ว" เป็นนายกฯ ที่ "ไทยแลนด์" ก็ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นเดียวกับที่ "ไอร์แลนด์" กำลังประสพอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
หากมองย้อนกลับไปในช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจซึ่งเป็นช่วงที่ใคร ๆ ก็สามารถกู้หนี้ยืมสินกันได้อย่างสบาย
ๆ ง่าย ๆ ได้กลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ทุกอย่างดูจะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ "หนี้ของประชาชน" กลายเป็น "หนี้ธนาคาร" และได้กลายเป็น "หนี้สาธารณะของทั้งประเทศ" เมื่อผู้คนส่วนใหญ่เริ่มไม่ยอมชำระหนี้สินตรงตามเวลา
ทำให้พอกพูนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวเกินกว่าที่แต่ละธนาคารจะจัดการแก้ไขด้วยตัวเองได้
หนี้ของธนาคารที่กำลังมีปัญหา ก็เลยกลายเป็นหนี้ของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลประกาศอุ้มธนาคารทุกแห่งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
(คล้ายกับที่รัฐบาลไทยเคยทำมาแล้วในอดีต) เพราะมั่นใจว่าเงินทองที่รัฐบาลมีอยู่เพียงพอต่อการแบกรับภาระทั้งหมดเอาไว้ได้
แต่ที่ไหนได้จากหนี้สินที่คาดการณ์กันเอาไว้ว่ามีเพียง
10,000 ล้านยูโร บานปลายออกไปกลายเป็น 70,000 ล้านในที่สุด เปรียบประดุจ "ภูเขาน้ำแข็ง" ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรเห็นยอดเขาพ้นผิวน้ำเพียงนิดเดียวแต่ที่ไหนได้ฐานของภูเขาที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำนั้นช่างใหญ่โตมโหฬารสุดที่จะคาดเดาเสียเหลือเกินครับ
ผลคือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 ใน 6 แห่งตกเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ อีก 2 แห่ง รัฐต้องเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และดูเหมือนชะตากรรมจะกำหนดแน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็วต้องกลายเป็นธนาคารของรัฐไปทั้งหมด
(ก็คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรานั่นแหละครับ)
ดูเหมือนว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารของ
"ไอร์แลนด์" นั้นจะใหญ่โตเกินกว่าที่รัฐบาลแบกรับไว้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนาดมหาศาลของมูลหนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังก่อตัวเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินเป็นมหันตภัยคุกคาม
"มูลค่า" ของสกุลเงิน "ยูโร" ทั้งระบบ(ที่กำลังขาดเสถียรภาพอย่างหนักและต่อเนื่อง)
ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้ง 16 ชาติ "ยูโรโซน" และ 27 ชาติสมาชิก "ยูโร"
การเข้ามาให้ความช่วยเหลือของ "ธนาคารกลางแห่งยุโรป
(อีซีบี)" กับ "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)" ผ่านทาง "กองทุนเพื่อเสถียรภาพเงินตราแห่งยุโรป" ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น
ในมุมมองหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างก็เห็นตรงกันว่าเป็น "ความจำเป็น" อย่างเร่งด่วนที่จะต้องทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของ "ไอร์แลนด์" พังทลาย ซึ่งจะส่งผลให้ "สกุลเงินยูโร" ทั้งระบบต้อง "ล้มละลาย" ตามไปด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน
นักเศรษฐศาสตร์รวมไปถึงนักวิเคราะห์ทางการเงินอีกหลายสำนักก็เริ่มตั้งคำถามว่า การเข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้
จะก่อให้เกิดผลในทาง "บวก" หรือ
"ลบ" ต่อนักลงทุนหลากสัญชาติที่ต่างก็เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ในทุก
ๆ โอกาสทุก ๆ รูปแบบเมื่อรับผลตอบแทนจนคุ้มค่า แล้วก็ปล่อยให้ทั้งระบบล่มสลายลง แล้ว
"นั่งอมยิ้มตีขิม" รอคอยความช่วยเหลือแบบ "ไม่มี ไม่หนี
ไม่จ่าย" ให้ทั้ง "อีซีบี" หรือ "ไอเอ็มเอฟ" เข้ามาอุ้ม
เพื่อปล่อยกู้กันอีกระรอกเพื่อฟื้นฟู ซึ่งในทางหนึ่งกลับเป็นการการันตีกลาย ๆ ว่า ในที่สุดแล้วกระบวนการปล่อยกู้แบบ
"ใครใคร่กู้ก็กู้" อย่างที่เป็นเคยเป็นมาในอดีต
ที่บรรดาสถาบันทางการเงินปล่อยออกไปอย่างย่ามใจ โดยไม่สนใจไยดีว่าสภาพของผู้ที่กู้ยืมไปมีปัญญาใช้คืนหรือไม่นั้น
สุดท้ายแล้วก็จะถูกชดใช้คืนได้ในที่สุดครับ
|