สวัสดีครับแฟน ๆ ชาวคนรักบ้าน ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
"ไพร่ฟ้าชาวประชาหน้าใส" เพราะยังคงอยู่ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลอง
"วันเฉลิมพระชนมพรรษา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ปวงชนชาวไทยต่างจงรักภักดีจนสุดหัวใจ จะว่าไปแล้วผมถือว่าเป็นคนมีบุญมากครับ เพราะช่วงหนึ่งในชีวิตการทำงานเคยได้เข้าไปร่วมงานกับ
"มูลนิธิชัยพัฒนา" ในหลายโครงการ ทำให้ผมโชคดีได้มีโอกาสศึกษาแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" กับท่านผู้รู้จริงหลายท่าน อาทิ ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิฯ ท่านศาสตราจารย์ ดร.
เกษม จันทร์แก้ว และอีกหลายต่อหลายท่าน อีกทั้งยังทำให้ผมได้เปิดทั้ง "วิสัยทัศน์" และ "กระบวนทัศน์" ของแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" ในหลากมิติหลายแง่มุม และที่สำคัญ คือ ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งผมคิดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ผลการลงมือปฏิบัติทำให้ผมเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธากับแนวคิดดังกล่าว ว่าจะเป็น "ทางเลือกอันเป็นทางรอด" ของการดำรงชีวิตในสังคม "บริโภคนิยม" แบบ "แดกด่วน" ที่มาพร้อมกับกระแส "โลกาภิวัตน์" ดังเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนั้นถือได้ว่าเป็นความภูมิใจที่ตลอดระยะเวลา
8 ปี ที่ผมได้พยายามสะท้อนปรัชญา "ความพอเพียง" ผ่านรูปแบบอาคารบ้านเรือนประเภทต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น "บ้านไม่บาน", "อพาร์ตเม้นท์ไม่บาน", "โรงแรม
+ รีสอร์ทไม่บาน", "กุฏิพระไม่บาน", "โรงเรียนปอเนาะไม่บาน", "พระอุโบสถไม่บาน" , "เมรุเผาศพไม่บาน" ฯลฯ ที่รวมกันแล้วเกือบ 400 รูปแบบ ได้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนให้คนนับล้านคนทั่วประเทศได้รับรู้
เรียนรู้และนำความรู้นั้นไปต่อยอดทางความคิด โดยผมได้ปวารณาตนว่าขอเดินตามเบื้องพระยุคลบาทในเรื่อง
"ความพอเพียง" ดังพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์เมื่อวันที่
๔ ธันวาคม ๒๕๑๗ ที่ยังคงประทับอยู่ในใจของผมมาโดยตลอด ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทย "ล้าสมัย" ว่าเมืองไทย "เชย" ว่าเมืองไทย
"ไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่" แต่เรา "พออยู่พอกิน" และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย
"พออยู่พอกิน" มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธานในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบ
"พออยู่พอกิน" ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด
แต่ว่ามีความ "พออยู่พอกิน" มีความสงบ
เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความ "พออยู่พอกิน" นี้ได้ เราก็จะ "ยอดยิ่งยวด" ได้..."
จะเห็นได้ชัดเจนว่าพระบรมราโชวาทนี้ทรงเน้นย้ำเรื่อง
"พออยู่พอกิน" อีกทั้งยังทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้
ทรงเน้นการ "พออยู่พอกิน" ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเตือนเรื่อง "พออยู่พอกิน" ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ คือ เมื่อ ๓๖ ปีที่แล้ว แต่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคมของประเทศกลับละเลยในสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำเอาไว้ นอกจากนั้นเมื่อวันที่ ๔
ธันวาคม ๒๕๔๑ พระองค์ท่านก็ยังทรงเน้นย้ำเพื่อเตือนสติพสกนิกรของพระองค์อีกว่า
"...เมื่อปี
๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้ "พอมีพอกิน"..."พอมีพอกิน" นี้ก็แปลว่า " เศรษฐกิจพอเพียง"นั่นเอง ถ้าแต่ละคน "พอมีพอกิน" ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศ "พอมีพอกิน" ก็ยิ่งดี และประเทศไทย เวลานั้นก็เริ่มจะ
"ไม่พอมีพอกิน" บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย.."
จึงเห็นได้ชัดเจนว่าแนวคิด
"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่ทรงพระราชดำริขึ้นเพื่อแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด
ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น
และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแส "โลกาภิวัตน์" และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปใน "ทางสายกลาง" โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคมเพื่อให้ก้าวทันต่อโลก

หากลองพิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าความ
"พอมีพอกิน" หรือ "ความพอเพียง" นั้นหมายถึง "ความพอประมาณ" และ
"ความมีเหตุผล" รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมี
"ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" ต่อการกระทบใด
ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัย "ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง" เป็นอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ
มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนไทยในทุกระดับ
ให้สำนึกใน "คุณธรรม" ความซื่อสัตย์สุจริต
และให้มี "ความรอบรู้" ที่เหมาะสม
ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้เกิดความสมดุลและพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
ทั้งด้านวัฒนธรรมใน "การกิน - อยู่แบบไทย" และวัฒนธรรม "บริโภคนิยม" จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
สำหรับผมแล้วได้ยึดเอาแนวคิด
"เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระองค์ท่านเป็น
"หลักชัย" ในการปฏิบัติงานออกแบบอาคารบ้านเรือนที่
"ไม่บาน" ประเภทต่าง ๆ มาโดยตลอด
นอกจากนั้นได้น้อมนำเอาปรัชญาแห่ง "ความพอเพียง" มาประยุกต์ใช้แบบบูรณาการ และทุกครั้งก็สัมฤทธิ์ผลเกิดเป็นอาคารบ้านเรือน
"ไม่บาน" ที่ "งามง่าย พอเพียง เป็นทั้งที่รักและที่พัก" อีกทั้งยังเป็นอาคารเรือน
"ไม่บาน" ที่ "ประโยชน์สูง ประหยัดสุด" อีกทั้งผมยังถือว่าเป็น
"หน้าที่ทางจริยธรรม" ของผมที่ต้องเผยแพร่แนวคิดแห่ง
"ความพอเพียง" ให้กับสังคมไทยได้รับรู้
และนำไปต่อยอดทางความคิด และผมก็มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่นี้ไปชั่วชีวิต เป็นการทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน
เพราะพระองค์ทรงงานเหนื่อยหนักเพื่อพสกนิกรมามากแล้ว
นอกจากนั้นยังเป็น "พระเจ้าอยู่หัว" พระองค์เดียวในใจของผม "ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" ครับ
|