ในยามที่ปัจจัยต่าง ๆ รอบตัวแทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ,สังคม
ตลอดจนการเมืองที่ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน กอปรกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ที่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินขึ้นมาครั้งใด ประเทศไทยก็สะบักสะบอมไปทุกครั้ง รวมทั้งการที่
"กระแสสังคม" ให้การยอมรับปรัชญาแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" ว่าจะเป็น
"ทางเลือก" อันเป็น "ทางรอด" อาจเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้กระทรวงการคลังโดยการนำของ
รมว.กรณ์ จาติกวณิช ดำริจะจัดทำ "งบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลย์" ให้ได้ภายใน
5 ปี โดยแผนปฏิบัติการขั้นแรกคือ "การปรับโครงสร้างภาษี" เพื่อให้สามารถจัดเก็บได้มากขึ้น
เพื่อชดเชยกับ "งบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุลย์" ซึ่งในทางปฏิบัติทั้งนักวิชาการด้านการเงินการคลังและบรรดาผู้ที่เคยบริหารงบประมาณแผ่นดินส่วนใหญ่ต่างก็เห็นว่าเป็นไปได้ยาก
เพราะรัฐบาลไม่ได้มีการปรับปรุง "โครงสร้างภาษี" แบบจริงจังมาร่วม 20 ปี
"ภาษี" ถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล
แต่ระยะหลัง ๆ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น จนต้องขอเพิ่มเพดานกู้หนี้ที่เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน
60% ของ "จีดีพี" ถึง 8 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินแบบ
"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ที่เน้นไปทางโครงการที่เกี่ยวกับ "ประชานิยม" เป็นผลให้ฐานะหนี้สินในงบประมาณหรือหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ
"จีดีพี" จึงเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรของรัฐบาล
ที่กระทรวงการคลังต้องชำระหนี้หรือซื้อคืนเป็นระยะเวลายาวนานถึง 32 ปี ทั้งนี้
เพราะกฎหมายกำหนดให้ชำระคืนได้ในวงเงินไม่เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐ คิดเป็นเงินแล้วประมาณปีละ
3.7 หมื่นล้านบาท หนี้ 4 แสนล้านบาทที่ตั้งเป้ากู้ในปีงบประมาณ 2554 นี้ จะต้องซื้อคืนพันธบัตรในปีที่
6 โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 3.75-4% จึงเป็นอีกภาระหนึ่งที่ทำให้ระยะเวลาของการชำระหนี้ของรัฐบาลต้องยืดออกไป
ดังนั้นถ้าจะจัดทำ
"งบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลย์" จะต้องใช้หนี้หรือซื้อคืนพันธบัตรให้หมดภายใน 5
ปี เฉลี่ยเงินต้นปีละ 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะติดเพดานชำระคืน
15% ดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายในด้านลงทุนอีกประมาณ
20-22% ต่อปี สำหรับปีนี้สภาฯ ให้ปรับลดงบลงทุนภาครัฐเหลือเพียง 20% เพราะมีรายจ่ายจำนวนมหาศาลที่รออยู่ข้างหน้า
โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการชำระหนี้นั้นสูงมากจำเป็นต้องรัดเข็มขัดประหยัดกันทั้งระบบครับ
เงื่อนไขอีกประการที่ทำให้ต้องจ่ายมากกว่ารับก็คือการตั้งนโยบายลดหนี้สาธารณะให้เหลือไม่เกิน
45% ของ "จีดีพี" ที่ยังมีตัวแปรอีกตัวหนึ่งนั่นคือตัวเลขดัชนีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ
2554 ซึ่งประมาณการณ์กันว่าจะอยู่ประมาณ 4-5% (ลดจาก 7-8% ในปีงบประมาณ 2553) ด้วยเหตุที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมชะลอตัว
อันเป็นผลจากปัญหาหนี้สาธารณะของชาติใน "ยูโรโซน" ที่ทำให้มีการลดรายจ่ายภาครัฐบาลลง
อีกทั้งในภาคการผลิตเองก็หดตัวลงทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง เป็นผลให้รายได้ของรัฐที่จะมาจากภาษีก็ย่อมจะลดลงด้วย
โดยปีที่ผ่าน ๆ มา 5 ปี อัตราเพิ่มขึ้นของรายได้มีสัดส่วนในงบประมาณเพียงปีละ 13% โดยปีงบประมาณที่แล้วทำได้เพิ่มแค่
10.4% เท่านั้น หากจะให้ "งบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลย์" จะต้องเพิ่มรายได้ขึ้นมาโดยเฉลี่ย
15.6% ต่อปีเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 ปี ในยามที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าการประมาณการเช่นนี้คงจะขยายรายได้จากภาษีได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีภาระผูกพันกับการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระดับ
"เมกะโปรเจกต์" โครงการละหลายหมื่นล้านบาทอีกหลายโครงการ
นี่ยังไม่นับรวมโครงการ "ประชานิยม" ในรูปแบบที่เร้าใจใหม่ ๆ อีก จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก
ก็จะเป็นผลให้สายหนี้ก็จะถูกลากยาวออกไปอีก (หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้คงใช้หนี้ไม่หมดภายใน
32 ปี) แต่โดยหลักการแล้วการจะทำ "งบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลย์" ได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายให้พอดีกับประมาณการรายได้หรือน้อยกว่ารายได้เพื่อเผื่อไว้สำหรับเป้าหมายจัดเก็บรายได้พลาดเป้า
ทั้งนี้จะต้องไม่มีการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วก็ดูจะเป็นไปได้ยาก
แต่อย่างไรเสียก็ขอเอาใจช่วยให้การทำ
"งบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลย์" ให้ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรก็ตาม
เพราะส่วนตัวผมแล้วมีความศรัทธาต่อแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่อยากและไม่ยอมเป็นหนี้ใคร
อีกทั้งยังไม่ชอบเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไร้ปัญญาและไร้ความสามารถโดยการกู้หนี้ใหม่
มาชำระหนี้เก่า แบบที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา ก็ไม่เพราะบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศกันแบบนี้ไม่ใช่หรือครับที่คนไทยล้วนแต่เป็นหนี้เป็นสินกันไปทั่วประเทศ
หากจะว่ากันแบบไม่เกรงใจแล้ว คนไทยจัดได้ว่าเป็นคนที่ยากจนที่สุด เพราะขอเพียงแค่ได้เกิดมาลืมตาดูโลกบนพื้นดินสุวรรณภูมิอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ก็เป็นหนี้แล้วครับ
|