การลุกฮือขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝันของพลังมวลชนอันบริสุทธิ์ในโลก
"อาหรับ" ทั้งในดินแดนตะวันออกกลางและตอนเหนือของแอฟริกาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยเริ่มจาก "ตูนิเซีย" แล้วได้ลุกลามบานปลายขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังประเทศอื่น
ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคทั้ง "อียิปต์", "แอลจีเรีย", "เยเมน", "จอร์แดน", "ซาอุดีอาระเบีย", "โอมาน", "ซูดาน", "ซีเรีย", "อิรัก" และ "ลิเบีย" จนหลายฝ่ายขนานนามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น " ARAB
- UPRISINGS" หรือ "การลุกฮือแห่งโลกอาหรับ" ในหลายประเทศอย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พลังอันบริสุทธิ์"ของประชาชนที่มีเพียงมือเปล่าที่เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
คงจะจำกันได้นะครับว่าชาว
"อียิปต์" ใช้ระยะเวลาเพียง 18 วัน ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำและไม่เคยมีใครคิดกันมาก่อนว่าจะทำได้สำเร็จ
นั่นคือการโค่นล้ม "บุรุษเหล็ก"
อย่าง "ฮอสนี มูบารัค" เจ้าของฉายา
"ฟาโรห์แห่งไคโร" ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า
30 ปี ลงได้สำเร็จ
โดยทำการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องและขยายตัวใหญ่โตมากขึ้นทุกทีไปตามเมืองใหญ่ ๆ
ทั่วประเทศกดดัน จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง (เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา)
เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ที่ชาว "ตูนิเซีย" ใช้เพียงไม่ถึงเดือนเช่นกัน ทำเอา "ไซเน่ เอล
อะบีดีน เบน อาลี" ที่หลงระเริงอยู่ในอำนาจมายาวนานกว่า 30
ปีเช่นกัน ต้องหนีหัวซุกหัวซุนลี้ภัยออกนอกประเทศ จึงทำให้เกิดกระแสความเชื่อแพร่สะพัดไปทั่วตะวันออกกลางว่า
ถ้า "ตูนิเซีย" และ"อียิปต์" ทำได้ ทำไม "จอร์แดน"," "เยเมน" รวมทั้งลิเบีย"
และอีกหลายต่อหลายประเทศจะทำไม่ได้
คงต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์
"ARAB-UPRISINGS" ที่ปะทุขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดมาก่อนนั้นไม่เพียงส่ง "ช็อก เวฟ" กระเพื่อมไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้นำในโลก
"อาหรับ" อีกทั้งยังก่อให้เกิดคำนิยามสำหรับคำว่า
"เป็นไปได้" ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจขึ้นมาใหม่ทั้งในด้านการเมืองและในความคิดเห็นของประชาชนในโลก
"อาหรับ"ทั้งมวล ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในเวลานี้ก็คือ
กลุ่มชาว "อาหรับ" ในหลายประเทศ
ตั้งแต่ "ลิเบีย" เรื่อยไปจนถึงกระทั่งถึง
"อิหร่าน" ที่กำลังถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ
ต่างพร้อมใจกันออกมาตามท้องถนน เรียกร้อง "การปฏิรูปทางการเมือง" ในแนวทางเดียวกัน ดังจะเห็นภาพข่าวของกองกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐกับผู้ประท้วงปะทะกันในสถานที่ต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่กรุง "ซานา" เมืองหลวงของ
"เยเมน" และที่ "บาห์เรน" ในขณะเดียวกับที่จัตุรัสใจกลางกรุง "แอลเจียร์" เมืองหลวงของ "แอลจีเรีย" ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เรียกร้องการ
"ปฏิรูปการเมือง" ไม่เว้นแม้แต่ที่เขตปกครองตนเอง
"ปาเลสไตน์" ใน "เวสต์แบงก์" ถึงกับมีการประกาศปลดคณะรัฐมนตรีและประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาใหม่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
แม้แต่ใน "อิหร่าน" ก็เกิดการชุมนุมประท้วงและเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาว
"อาหรับ" ใน "ตูนิเซีย"กับ "อียิปต์" แต่ที่ที่น่าสลดใจก็เห็นจะเป็น "ลิเบีย" ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จมายาวนานกว่า 40 ปีของนายทหารยศพันเอกอย่าง "โมอามาร์ กาดาฟี" ก็มีความเคลื่อนไหวนัดหมายกันชุมนุมประท้วงและเกิดการปะทะกันอย่างนองเลือดจนเกิดเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก
คนทั้งโลกโดยเฉพาะคน
"อาหรับ" ต่างก็กำลังจับตาดูปรากฏการณ์ "ARAB-UPRISINGS" นี้อยู่ และมีความเชื่อว่าวิถีการดำเนินชีวิตของคน "อาหรับ" หลายร้อยล้านคนนับแต่นี้จะ ไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนกับที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว
ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน "ตูนิเซีย" และ "อียิปต์"นั้นส่งผลสะเทือนทั้งในเชิง
"จิตวิทยา" และในเชิง "สัญลักษณ์" อย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนครับ
ที่สำคัญที่สุดความเชื่อในโลก
"อาหรับ"
ได้เปลี่ยนแปรไป นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใน "ตูนิเซีย" และ "อียิปต์" คือสัญญาณของพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในภูมิภาคตะวันออกกลางและตอนเหนือของแอฟริกา อีกทั้งยังจะส่ง "ผลกระทบเป็นลูกโซ่" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปทั่วโลก นอกจากทำให้ภูมิภาคดังกล่าวตกอยู่ในสภาวะ "สุญญากาศทางการเมือง" แล้วก็ยังนำไปสู่
"การขาดเสถียรภาพ" ในมิติต่าง ๆ
ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ราคาน้ำมันดิบได้ทะยานพุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก
นอกจากนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งโลกได้เห็นคน "อาหรับ" รุ่นใหม่ที่ใช้พลังแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร บวกกับพลังแห่งการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่าเก่าต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองว่าควรจะเป็นตัวแทนแห่งความหวังไม่ใช่ตัวแทนแห่งการกดขี่และเป็นตัวแทนความกลัวของชาว
"อาหรับ" อีกต่อไปครับ
|