คงต้องยอมรับความจริงนะครับว่าทุกวันนี้ในสังคม
"แดกด่วน" ที่ถูกขับเคลื่อนโดยลัทธิ "ทุนนิยม" คนส่วนใหญ่มักยึดติดกับ
"ประสบการณ์การเรียนรู้" ที่เกิดจาก "ตรรกะ" บนพื้นฐานของ "เหตุผล" ทำให้บรรดาผู้คนในสังคมปัจจุบันสามารถ "เรียนรู้" เรื่องราวอะไรก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมี
"ประสบการณ์จริง" จะว่ากันไปแล้วก็จัดได้ว่าเป็น "ความรู้" ระดับหนึ่งที่ก่อให้เกิด
"ความคิด" ระดับหนึ่งครับ ฉะนั้นจะเห็นว่าผู้คนสมัยใหม่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มาก
(โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกันโดยโครงข่ายอินเตอร์เน็ต) ก็จะทำให้มีความรู้มาก กว้างมาก
เพราะข้อมูลเหล่านั้นทำให้เกิด "ความรู้" อันเป็นพื้นฐานทาง"ความคิด"
ที่สามารถทำให้เกิด "ตรรกะ"อันอาจก่อเกิดเป็นความหมายได้ในระดับหนึ่งแต่แท้จริงแล้วไม่มีพลังเพียงพอหรอกครับ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมเริ่มสงสัยว่า
"ความรู้" อันเกิดจาก "ความคิด" ในเชิง "ตรรกะ" นั้นยังไม่เพียงพอ
ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้นะครับแต่เป็นความรู้ที่ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ที่ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จุดนี้ละครับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน "วิถีแห่งการเรียนรู้"
ของผม ที่ผมมีความเห็นเช่นนี้ไม่ได้ความหมายว่าผมเรียนมาจาก (ทฤษฎี) แต่เป็นการเรียนจากข้อเท็จจริงที่ประสบมา
พอผมได้ใช้ใจเข้าไปสัมผัสสิ่งนั้นแบบตรง ๆ จริง ๆ เรื่องที่เคยคิดว่ารู้อยู่แล้ว ดูผิวเผินอาจจะดูเหมือนมีความหมายคล้าย
ๆ เดิม แต่แท้จริงแล้วมีความลุ่มลึก ไม่เหมือนเดิม กลายเป็นสิ่งที่มี "พลัง"
อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ภายในอย่างลึกซึ้ง
ผมเคยเชื่อในตนเองว่ามีความรู้เชิง "ตรรกะ"
ดีพอสมควร อีกทั้งยังเคยเชื่อว่า"ตรรกะ"เป็นกระบวนการคิดที่เป็น "วิทยาศาสตร์"
ที่สามารถวางใจได้เป็นอย่างยิ่ง แต่ช่างน่าแปลกนะครับที่ในปัจจุบันผมเริ่มถอยห่างจาก
"ตรรกะ" ออกไปทุกที ถึงแม้ว่ายังเชื่อมั่นอยู่ว่าการคิดอย่างมีระบบที่ดี จะสามารถทำให้
"มนุษย์" สร้างสรรค์ "ความรู้" ที่ดีได้ จะว่าไปแล้วผมมาเริ่มฉุกคิดเมื่อมีอายุมากขึ้น
ทำให้ต้องทบทวนอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เคยคุ้นชินในอดีต และย้อนกลับมาสู่ประเด็นว่า
ในขณะผมมีความคิดเชิง "ตรรกะ" มีระบบ "เหตุผล"
ในการลงมือทำในทุกเรื่อง แต่ผมกลับไม่มี "พลัง" ที่จะจัดการชีวิตของผมอย่างสร้างสรรค์ในเชิง
"จริยธรรม" สักเท่าไร
วันนี้ผมพบแล้วว่าแท้จริงแล้ว
"ตรรกะ" นั้นไม่เกี่ยวอะไรกับ "คุณงามความดี" เลยสักนิด ยกตัวอย่างเช่นรัฐบาล
"อเมริกา" จะปลิดชีพ "อุซามะห์ บินลาดิน" ก็จำเป็นต้องสร้าง "เหตุผล"
ที่ดี ผมว่าหลายประเทศในโลกต่างเห็นด้วยกับการส่งหน่วยล่าสังหารพันธุ์แมวน้ำ (SEAL)
ไปปลิดชีพโดยที่ไม่มีใครทักท้วง ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นว่าต้องมีอะไรมากกว่าการใช้ "เหตุผล"
ที่ถูกสร้างด้วย "ตรรกะ" และนี้เองทำให้ผมคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของ
"เหตุผล" อยู่นอกเหนือ "เหตุผล" เพราะ "ตรรกะ"เป็นเพียง "อำนาจ" ของการใช้ "เหตุผล" ไม่ได้พา "มนุษย์" ย้อนกลับไปสู่ "จริยธรรม"
ที่แท้จริง ยินยอมให้มี "เหตุผล" ในการประหัตประหารชีวิตตาม "เหตุผล"
ที่ถูกสร้างขึ้นต่าง ๆ นานา
เมื่อ "ตรรกะ" คือ เรื่อง "อำนาจของการใช้เหตุผล" ดังนั้นจึงเป็นเพียงเครื่องมือ
ที่เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลที่จะสามารถสร้าง ระบบความคิดเชิง "ตรรกะ" ขึ้นมาให้ทำในสิ่งที่
"สมเหตุสมผล" และให้สังคมสามารถตัดสินว่าควรต้องทำสิ่งนี้สิ่งนั้น ประเด็นที่สำคัญก็คือ
ถ้าในกรณีเดียวกันนี้มีคนแย้ง ก็จำเป็นต้องมี "เหตุผล" ที่จะแย้ง เมื่อมี "เหตุผล" ที่จะแย้ง ก็เลยกลายเป็น "เหตุผล" ของกันและกันโดยไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้
"เหตุผล"ไปเพื่ออะไร พูดแบบประสาชาวบ้านคือมี "เหตุผล" ไปทุกเรื่องนั่นแหละครับ
ในปัจจุบันผมกลับมาสู่ความเชื่อว่าจริง
ๆ แล้วในตัวคนทุกคนนั้นมีความเป็น "มนุษย์" เท่าเทียมกันและความเป็น "มนุษย์"
นี้ไม่ได้เกี่ยวกับ "ตรรกะ" อันเป็น "เหตุผล" ในความเป็น "มนุษย์" แต่ในความเป็น "มนุษย์" นี้เกิดมาอยู่ในตัวคนทุกคน และหากมีความเชื่อในลักษณะนี้ก็จะทำให้คลายความหวั่นกลัว
เพราะมีความหมายของบางสิ่งบางอย่างที่งดงามอย่างที่สุดในความเป็น "มนุษย์" ที่ไปปรากฏอยู่ในตัวเราและไปปรากฏอยู่ในเพื่อน
"มนุษย์" ทุกผู้ทุกคน
ผมเชื่อว่านี้คือความเป็น "มนุษย์" ที่เป็นพื้นฐาน
นักปราชญ์บางท่านเรียกสิ่งนี้ว่า "มานวธรรม" ซึ่งเป็น "มนุษยธรรม" อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
ที่มีอยู่ในตัว "มนุษย์" ทุกคน อีกทั้งผมยังเชื่อว่า "ธรรมะ" พื้นฐานนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของ
"มนุษย์" ทั้งในด้านเศรษฐกิจ,สังคมและการเมืองในอนาคตครับ
|