จากเหตุการณ์จลาจลที่กำลังเกิดขึ้นและมีทีท่าว่าจะลุกลามบานปลายขยายตัวออกไปอีกที่
"กรีซ" และมีโอกาสลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่ม "อียู"อันมีสาเหตุมาจาก
"การล่มสลายลงทางเศรษฐกิจ" ทำให้ผมได้ฉุกคิด แล้วหันกลับมามองสถานการณ์ในบ้านเมืองของเรา
ที่มีบรรยากาศโดยรวมคล้ายคลึงกับช่วงเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการใช้จ่ายกันอยู่
เพราะไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง รวมไปถึงสภาวะทางเศรษฐกิจในอนาคต
ที่ปัจจัยลบต่าง ๆ ก็ยังคงค้างคาอยู่มากมาย จนทำให้บรรดา "กูรู" (หรือ "กูอยากรู้") ทั้งหลาย ไม่สามารถฟังธงลงไปได้ว่าหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถแสวงหาจุดร่วมบนความแตกต่างที่ทุกฝ่ายจะทำใจยอมรับได้หรือไม่
และเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งจะถดถอยหรือฟื้นตัว ยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง
รัฐบาลมัวแต่เล่นเกมส์ทางการเมือง จนลืมนึกถึงปัญหาปากท้องและลืมคิดไปว่าในเมื่อทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น
"ยุโรป", "ญี่ปุ่น", "จีน" หรือ "อเมริกา" กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจ
ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากปัญหา "เงินเฟ้อ" ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย
ๆ เป็นผลให้บรรดาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายต่อหลายประเทศต่างพากันรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะบรรดานโยบาย
"ประชานิยม" ต่าง ๆ รวมทั้งพากันเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับ "วิกฤติเศรษฐกิจโลก"
ระรอกใหม่
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว
"ไทย" ที่เศรษฐกิจทั้งระบบพึ่งพาอยู่กับการส่งออก จะส่งอะไรไปขาย ในเมื่อไม่มีกำลังซื้อในตลาดโลกหรือกำลังซื้อที่เดิมเคยมีกำลังหดตัวลง
อย่างไรก็ดีบรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐบาล (รักษาการ)อาจจะรู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ จึงไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการเตรียมการรับมืออย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
ในทางตรงกันข้ามกลับใช้งบประมาณซื้อเสียงผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ ในลักษณะนโยบาย
"ประชานิยม" แบบสุดกู่ โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย
ขอเพียงแค่มีชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้นก็พอ ส่วนปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมานั้นเอาไว้ค่อยคิดหาหนทางแก้ไขในอนาคตแบบ
"ไปตายเอาดาบหน้า" ใครมาเป็นรัฐบาลใหม่ก็รับภาระหาเงินไปใช้หนี้กันเอาเองตามยถากรรมก็แล้วกัน
เมื่อ "ดูหนังดูละครแล้วย้อนกลับมาดูตน" รัฐบาล "ไทย" ชุดใหม่ควรที่จะต้องศึกษาเรียนรู้วิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ
"กรีซ" ที่โครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจ,สังคมและการเมืองมีอันต้องล่มสลายลง เนื่องมาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายลด แลก แจก แถมในรูปแบบ "ประชานิยม" นอกจากนั้นแล้ว
นโยบายทางเศรษฐกิจของ "กรีซ" ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้าง ที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เห็นแผนปฏิบัติการแบบจริงจังในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลึกลงเหวไปทุกขณะ
นอกเหนือไปจากนโยบายการตัดลดงบประมาณรวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนการตัดลดผลประโยชน์ต่าง
ๆ ที่รัฐเคยจัดทำขึ้นในรูปแบบสวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้กลับไม่มีแผนฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
การล่มสลายลงของเศรษฐกิจ
"กรีซ" เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ "ไทย" ควรที่จะต้องเรียนรู้และนำมาปรับปรุงแก้ไขนอกจาก
ความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหลักที่นอกจากจะอืดอาด
ยืดยาด ล่าช้า ซ้ำซ้อนแล้ว ก็ยังถูกซ้ำเติมด้วย ปัญหาคอรัปชั่น ทั้งแบบทางตรง,ทางอ้อม
และที่แฝงอยู่ในนโยบายของรัฐที่แทรกตัวอยู่ในทุกระบบ ก็ยังรวมไปถึงนโยบายการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยผ่านนโยบาย "ประชานิยม" ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการซื้อเสียง สิ่งต่าง ๆ
ที่ได้เอ่ยมาเหล่านี้แหละครับดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาทางโครงสร้างที่ยังคาราคาซังอยู่
ดูไปดูมา "รัฐบาลกรีซ" ก็ไม่ต่างอะไรจาก "รัฐบาลไทย"ในช่วงนี้ที่กำลังเผชิญกับทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ
วิกฤติสังคม และวิกฤติทางการเมือง (แบบรับศึกหนักทุกด้านพร้อมกัน) รอเพียงแค่เวลา
"ฝีแตก" เท่านั้น ซึ่งในสถานการณ์ที่สับสนวุ่นวายในทุกภาคส่วนดังเช่นทุกวันนี้
ผมต้องสารภาพตามตรงครับว่ามีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งและไม่อยากให้ "ไทย"
มีอันเป็นไปเหมือน "กรีซ" ครับ
|