คงทราบกันดีครับว่าพรรค "เพื่อไทย" เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง
แบบถล่มทลายเหนือคู่แข่งคือพรรค "ประชาธิปัตย์" ทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล
โดยได้มีการดึงเอาบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยไม่น่าต่ำกว่า 5 พรรค มาเป็นพรรค "ร่วมรัฐบาล"
เพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับที่
1 (ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารกิจการบ้านเมืองมาก่อน) เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ จากผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความคาดหวังของประชาชนในนโยบาย "ประชานิยม" ที่ พรรค "เพื่อไทย" ได้นำเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งสัญญา "ประชาคม"
เด่น ๆ ที่ครองใจคนส่วนใหญ่และนำไปสู่ชัยชนะแบบถล่มทลายก็เห็นจะได้แก่ การเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ
300 บาท, การเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท, การเพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพจาก
500 บาทเป็น 1,000 บาท, การรับจำนำข้าวเปลือกเป็นตันละ 15,000 บาท, การให้เกษตรกรมีบัตรเครดิตไปจนถึงการเพิ่มกองทุนหมู่บ้านอีก
100,000 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมไปถึงการพักชำระหนี้สำหรับครัวเรือนที่ต่ำกว่า
500,000 บาทไปอย่างน้อย 3 ปี, การลดภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก, การยกเลิกกองทุนน้ำมันพร้อมลดภาษีน้ำมันเบนซินและดีเซล ตลอดจนการเพิ่มเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการสร้างรถไฟฟ้าอีก 10 สายในกรุงเทพมหานคร นี่เป็นเพียงนโยบายบางส่วนเท่านั้นนะครับ สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการเน้นนโยบาย "ประชานิยม" ซึ่งจะผูกมัดพรรค "เพื่อไทย" ในอนาคตเพราะเป็นสัญญา "ประชาคม"
ที่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะที่ได้รับเลือกมาแบบถล่มทลายในครานี้ก็เพราะนโยบายเหล่านี้
ภายใต้เงื่อนไข สัญญา "ประชาคม" ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากพรรค "เพื่อไทย" ทำจริงตามที่ให้สัญญา "ประชาคม" ไว้ คงต้องใช้เงินเป็นจำนวนอภิมหาศาลเลยทีเดียว ผมไม่แปลกใจเลยครับที่หลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต่างรู้สึกหนาว
ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กันอาทิ เช่น กระทรวงการคลัง (ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบในการหาเงินมาให้รัฐบาลใช้) ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ต้องดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ) รวมไปถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ "ทีดีอาร์ไอ" และบรรดานักวิชาการอีกหลายท่านรวมทั้งผมเกิดความหวั่นเกรงว่าหากรัฐบาลดำเนินนโยบาย "ประชานิยม" แบบสุดขั้วเช่นนี้ อาจทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมเกิดความเสียหาย
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะกลางและระยะยาว) อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาวะการเงินคงคลัง ทุนสำรองของประเทศและอาจนำไปสู่สภาวะ
"เงินเฟ้อ" ที่รุนแรงและที่สำคัญที่เป็นห่วงที่สุด คือ จะส่งผลต่อวินัยทางการเงินของประชาชนที่จะมีทัศนคติที่ผิด
ๆ ที่วัน ๆ เอาแต่นั่งรอนอนรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
นอกจากนั้นบางนโยบาย "ประชานิยม"
ก็ได้เริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงขึ้นตามลำดับอาทิเช่น นโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ
15,000 บาท ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าข้าวทั้งระบบเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับ "เวียดนาม") นี่ยังไม่นับถึงนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ
300 บาท ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs เพราะจะทำให้ไม่สามารถจ้างแรงงานในต้นทุนที่สูงได้ อีกทั้งในเรื่องการเพิ่มเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีที่จบใหม่เป็น
15,000 บาท ส่วนปริญญาตรีที่จบไปก่อนหน้านี้แล้วและได้ทำงานแล้วจะต้องปรับเพิ่มหรือไม่
ใครจะเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังค้างคา กันอยู่ แต่ที่ผมกังวลที่สุดคือปัญหาสภาวะ
"เงินเฟ้อ" ที่กำลังจะตามมา ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนหมู่มาก
เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องปากท้องและบรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะมีราคาแพงขึ้นมาก
(ในขณะที่ค่าของเงินจะลดลง)
พอใช้จ่ายเงินที่มีอยู่ในคลังจนหมด ก็จำเป็นต้องหันมาสู่การนำเอา "เงินในอนาคต"
มาใช้ (นอกจากการกู้แล้วยังอาจจะออกมาในรูปพันธบัตรในรูปแบบต่าง ๆ ) ผลักภาระไว้ให้กับรัฐบาลใหม่ในอนาคตอีก
5-6 ปีข้างหน้า ก็มีบทเรียนให้เห็นกันมาแล้วที่กำลังเกิดขึ้นกับรัฐบาล "กรีซ"
ในปัจจุบันที่ตกอยู่ในสภาพหนี้สินล้นตัวเดือดร้อนกันไปทั่วประชาคม "ยุโรป" ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจและคล้ายกับรัฐบาล
"ไทย" มาก เอาไว้ต่อในสัปดาห์หน้ามาเจาะลึกลงในรายละเอียดกันครับ
จึงอยากฝากย้ำถึงรัฐบาลใหม่ว่าให้ระมัดระวังให้ดี
เพราะนโยบาย "ประชานิยม" ที่ผูกพันกับ สัญญา "ประชาคม"
เผลอๆ จะพากันล่มจมกันทั้งประเทศครับ ก็ขอทำหน้าที่ "สุนัขเฝ้าบ้าน" ฝากเอาไว้จะทำกิจการงานใดก็ขอให้เตรียมการ
"ป้องกันไว้ดีกว่าแก้" เพราะ "เดี๋ยวแย่จะแก้กันไม่ทัน" ครับ
|