หากศึกษาลึก ๆ
แบบลงรายละเอียดของบรรดานโยบาย "ประชานิยม" ต่าง ๆ ซึ่งได้ กลายเป็น "สัญญาประชาคม"
ดังที่รัฐบาลชุดใหม่ได้แถลงเอาไว้ในสภาฯ ก็อดที่จะวิตกไม่ได้ครับ เพราะมีการประมาณการอย่างคร่าว
ๆ เอาไว้ว่าจะต้องใช้เงินเพื่อสนองนโยบายเหล่านี้จำนวนอภิมหาศาลถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว เอาแค่กระทรวงคมนาคมเพียงกระทรวงเดียว หากดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ในบรรดาโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง
ๆ ภายในระยะเวลา 5 ปี คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินกว่า 1.07 ล้านล้านบาท ในทางกลับกันของรายได้หลักของรัฐที่จะมาจากการจัดเก็บภาษีมีแนวโน้มว่าจะลดลง
นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพากร มีการปรับลดภาษีกันหลายด้าน
ในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นลดทันที 23% ในรอบบัญชีปีงบประมาณ 2555 (เริ่ม 1 ต.ค.
นี้) ส่วนปีงบประมาณ 2556 ลดเหลือ 20% เพื่อให้เท่าเทียมกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลใน
"อาเซียน" ที่ตอนนี้เหลือ "ไทย" กับ "ฟิลิปปินส์" เท่านั้นที่ยังใช้อัตรา
30% อยู่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศและเพิ่มศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ
ขณะนี้สิ่งที่ภาคเอกชนเกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งก็คือ
นโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและเพิ่มเงินเดือนลูกจ้างจบปริญญาตรีเป็น
15,000 บาท ก่อให้เกิดความวิตกกันว่าจะส่งผลให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นจนอยู่กันไม่ได้
ขณะที่บรรดา "กูรู" ทางการเงินการคลังก็ได้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการกระตุ้นให้อัตรา
"เงินเฟ้อ" เพิ่มสูงขึ้น โดยจะก่อให้เกิดการกักตุนสินค้าและขึ้นราคาดักหน้าอัตราค่าจ้างใหม่และหวั่นเกรงว่าหาก
"แบงก์ชาติ" ใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเพื่อสกัดกั้นอัตรา
"เงินเฟ้อ" ก็จะทำให้บรรดาผู้ประกอบการบอบช้ำจากต้นทุนดอกเบี้ยจนรับไม่ไหว ดังนั้นควรที่จะใช้วิธีการลดต้นทุนในด้านภาษีแทนดีกว่า
เพราะมีผลไปลดราคาสินค้าปลายทาง ขณะเดียวกันก็ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในรายที่ซื้อสินค้าในระบบเช่าซื้อหรือซื้อเงินผ่อน
ในมุมมองอีกด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300
บาทก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีเงินเพื่อใช้จ่าย (Disposable Income-DI ) เพิ่มขึ้นและสามารถแบ่งส่วนหนึ่งไปเป็นเงินออมอีกด้วย
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่หาเสียงไว้ว่าจะลดนั้น ในความเห็นของผมดูแล้วว่าจะไม่ใคร่จำเป็นสักเท่าไร
เพราะคนไทยคุ้นชินกับ VAT 7% มานับสิบปีแล้วสามารถรับได้ไม่เดือดร้อน
นอกจากนั้นรายได้จาก VAT ยังมีสัดส่วนถึง 25% ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งหมด
แต่ถ้าจะเก็บเพิ่มตามที่กรมสรรพากรเสนอมาก็จะเป็นภาระผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย
และอาจกระตุ้นอัตราขยายตัวของ "เงินเฟ้อ" ให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมายืนยันว่า
จะสามารถตรึงอัตราขยายตัวของเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ย 3.2-3.7% ได้ก็ตามที แต่ผมเชื่อว่าน่าจะขึ้นไปแตะที่
4% ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงมากครับ
นอกจากนั้นทั้งกระทรวงพาณิชย์
กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ที่มีนโยบายพักการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงโดยเฉลี่ยลิตรละ
7 บาท หวังลดภาระต้นทุนสินค้า โดยมั่นใจว่า จะควบคุมกลไกราคาตั้งแต่ต้นทางคือ "โรงงาน" กลางทางคือ "โลจิสติกส์" ไปสู่ปลายทางคือถึงมือ "ผู้บริโภค" ได้ แต่ก็มีผู้ท้วงติงว่าการลดภาษีกับการอุดหนุนราคาน้ำมัน
จะขยายตัวเลขติดลบงบประมาณจากกรอบ 4 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 เป็น 5 แสนล้านบาทได้
แม้ว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีใน 10 เดือนแรกของปีงบประมาณได้ 1.79 ล้านล้านบาท
เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็สูญเสียรายได้ไปกับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละต่ำกว่า
30 บาทเป็นยอดเงินรวมกันแล้วสูงถึง 2.3 พันล้านบาท
ถ้ามีมาตรการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อลดราคาเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภทยกเว้นเบนซิน
91 และ 95 ก็ยิ่งทำให้รายได้ของรัฐหดหายไปอีก นอกจากนี้ยังกระตุ้นการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้น
หากต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นก็อาจจะติดลบเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท
(ทั้งนี้คำนวณจากตัวเลขที่รัฐบาลในอดีตต้องกู้เงินมาชดเชยราคาน้ำมันถึง 97,000 ล้านบาท)
ทางออกก็คือ มาตรการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็คงจะสามารถปฏิบัติได้เพียงแค่ระยะหนึ่งเพื่อไม่ให้ผิด
"นโยบายประชานิยม" ที่นำไปสู่ "สัญญาประชาคม" ที่ได้ให้ได้เป็นการชั่วคราว
จากนั้นคงจะอั้นไม่ไหวจำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดและคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขึ้นภาษีสรรพสามิตเพื่อชดเชยเงินกองทุนที่หายไป
หรือหาก "มองต่างมุม" ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะ "ตั้งใจอยู่"
ไม่นานเป็นเพียง "ลิเก" หน้าม่านชุด "ขัดตาทัพ" มา "ออกแขก"
เพื่อ "โหมโรง" กันไปสักพักเดียวเดี๋ยวก็ต้องยุบ,ปรับ,เปลี่ยน เอาบรรดา "ดารา"
ที่เป็น "ตัวจริงเสียงจริง" ที่นั่งรออยู่อย่างกระสับกระส่ายกันแทบไม่ติดเก้าอี้ที่หลังม่าน
(ทั้งที่อยู่นอกประเทศและในประเทศ) ออกมาเล่นแทนครับ
|