เหตุ "จลาจล" รุนแรงขึ้นขั้น "เผาบ้านเผาเมือง"
อย่างบ้าคลั่งใน "อังกฤษ" ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต้องถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของสังคม
การขาดจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ตลอดจนการ "เหยียดผิวและ "ความยากจน" ทั้งที่
"อังกฤษ" ได้ชื่อว่าประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง ทันสมัยในทุกด้าน มีวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี อันดีงามมายาวนานจนได้รับฉายา "เมืองผู้ดี" ขณะเดียวกันก็ยังเป็นประเทศหนึ่งในชาติอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
7 ชาติ เกิดอะไรขึ้นที่ "อังกฤษ" จึงเป็นคำถามที่ชาว "อังกฤษ" เองและชาวโลกต้องตั้งคำถามด้วยความสงสัย
ไม่อยากเชื่อสายตา เมื่อได้เห็นภาพเหตุการณ์ "จลาจล" ในครั้งนี้มีการจุดไฟเผาอาคารร้านค้า
รถยนต์ ลักขโมยทรัพย์สิน ปล้นสะดม รุนแรงไปจนถึงขั้นข่มขืนและฆาตกรรมในมหานคร "ลอนดอน" และเกิด "การลอกเลียนแบบ" ไปยังอีกหลายเมือง ทั้ง "บริสตอล", "เบอร์มิงแฮม",
"ลิเวอร์พูล", "ลีด", "วูล์ฟ", "เวอร์แฮมป์ตัน", "เวสต์บรอมวิช",
"ซัลฟอร์ต", "น็อตติงแฮม", "แมนเชสเตอร์" และ "เลสเตอร์"
นายกรัฐมนตรีเดวิด
คาเมรอน ได้ออกมากล่าวด้วยความสะเทือนใจกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นว่า สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่ล่มสลายและนี่คือภารกิจสำคัญของรัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาและทบทวนนโยบายทั้งหมด จะว่าไปแล้วปัญหาสังคมเหล่านี้ ได้สั่งสมมานานหลายปี นอกจากนั้นยังกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความละเลยไม่เอาใจใส่ของผู้ปกครองต่อบุตรหลานในครอบครัว
และนโยบายการศึกษาที่ล้มเหลวจนทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ไร้สำนึกรับผิดชอบ เสมือนเป็นผลผลิตของสังคมที่ป่วยไข้
นายกรัฐมนตรี คาเมรอน ยังได้กล่าวถึงนโยบายการศึกษาของประเทศ ว่า "ล้มเหลว"
แม้จะมีนักวิเคราะห์การเมือง สื่อบางสำนัก ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงชนวนเหตุของความรุนแรงว่า
สาเหตุอาจเป็นเพราะความ "เหยียดผิว" หรือ "ปัญหาเศรษฐกิจ" เนื่องจากเกิด
"ปัญหาการว่างงาน" มากขึ้น แต่ถึงอย่างไร เหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้
จะไม่เกิดขึ้นหากผู้คนในสังคมมีศีลธรรมคอยกำกับจิตใจ ทั้งนี้ต้นเหตุของการชุมนุมต่อต้าน
มีชนวนเหตุจากการที่นาย "มาร์ค ดักแกน" ชาว "อังกฤษ" เชื้อสาย "ละติน" วัย 29 ปี ได้ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปราบปรามอาชญากรรมจากอาวุธปืนในย่าน
"คนดำ" ของเขต "ทอตแนม" ทางตอนเหนือของกรุง "ลอนดอน" จากแฟ้มประวัติของตำรวจ
ระบุว่าผู้ตายพัวพันกับเครือข่ายยาเสพติด จากประเทศ "จาเมกา" อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนาย "ดักแกน" ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่คนในชุมชน ได้พากันรวมตัวประท้วงไม่พอใจการปฏิวัติหน้าที่ของตำรวจ
พร้อมกับเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากการเริ่มต้นโดยการประท้วงแบบสันติวิธี แต่กลับทวีความรุนแรงกลายเป็นเหตุ
"จลาจล" เมื่อมีการปลุกระดมผ่าน "โซเชียลเน็ทเวิร์ค" หรือเครือข่ายสังคม
"ออนไลน์" อาทิเช่น "ทวิตเตอร์", "เฟชบุ๊ก" และ "แบล็กเบอร์รี่" เรียกร้องกลุ่มผู้ชุมนุมวัยรุ่นให้ออกมาเผาอาคารบ้านเรือน รถยนต์ในย่าน "ทอตแนม" ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงได้เกิดการเผชิญหน้า ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดการวางเพลิงจุดไฟเผาอาคารร้านค้า
รถยนต์ บรรดาร้านค้า "แบรนด์เนม" หลายร้านก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปลักขโมยสินค้า
จากนั้นเหตุจลาจลได้ลุกลามบานปลายไปยังหลายเมืองทั่วเกาะ "อังกฤษ"
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปลี่ยนคำเรียกจาก
"ผู้ประท้วง" เป็น "ผู้ก่ออาชญากรรมเลียนแบบ" กระทั่งสามารถควบคุมเหตุรุนแรงให้สงบลงได้ จนถึงวันที่ 15 เดือนสิงหาคม มีผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุมเป็นจำนวนถึง
2,771 คน ส่วนใหญ่ถูกต้องหาลักขโมยทรัพย์ ปล้นสะดม ไปจนถึงก่อเหตุรุนแรง วางเพลิง และก่อความไม่สงบ
ในบรรดาผู้ต้องหาที่จับกุมมาได้ มีทั้งลูกสาวมหาเศรษฐี ผู้ช่วยครู พ่อครัว วัยรุ่นว่างงาน
และเด็กชายวัย 11 ปี และมีอย่างน้อย 15 คนถูกจับโทษฐานใช้เครือข่ายสังคม "ออนไลน์" ปลุกระดมให้ผู้คนออกมาก่อ "จลาจล"
เหตุจลาจลใน "อังกฤษ" คราวนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงปัญหาสังคมที่ล่มสลายในระบบ
"ทุนนิยม" แล้ว ยังเป็นกระจกบานใหญ่ ที่สะท้อนให้ชาวโลกได้เห็นด้วยว่า
การตกเป็นเหยื่อของลัทธิ "บริโภคนิยม" ในยุค "โลกาภิวัตน์" จนละเลยการปลูกฝังในเรื่องศีลธรรมคุณงามความดีนั้น
จะมีผลตามมาที่ร้ายแรงเช่นไร สัปดาห์หน้ามาดูกันว่าเหตุการณ์ "จลาจล" ในครั้งนี้
สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรกันบ้างและต้องเตรียมการรับมืออย่างไร เพราะไม่แน่นะครับอาจจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในบ้านเราก็ได้
|