โลกในยุค "ไร้พรมแดน"
เช่นในปัจจุบันนับว่าเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงสำหรับประเทศที่มัวแต่เสียเวลาอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปวัน
ๆ อย่างประเทศ "ไทย" เรา เพราะทำให้ไม่สามารถสร้าง "วิสัยทัศน์" ให้
"มองไกล" ออกไปในอนาคต เห็นได้ชัดเจนจากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก อาทิเช่น
"น้ำท่วม" ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดซักที นอกจากนั้นยังมีสารพัดปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
"ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง" ที่ยังหา "จุดร่วม" บนความแตกต่างไม่ลงตัวมาช่วยกันฉุดอีก
จะว่ากันไปแล้วโลกในยุค "ไร้พรมแดน" ถึงแม้ว่าจะเต็มไปด้วยการแข่งขันและการเอารัดเอาเปรียบแต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสและช่องทางใหม่
ๆ ในการยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตของบรรดาผู้ในประเทศให้ดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับกันว่าตลาดในภูมิภาค
"เอเชีย" เป็นตลาดที่กำลังเติบโตทั้งยังมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะแค่ "จีน"
กับ "อินเดีย" ก็มีประชากรรวมกันหลายพันล้านคนแล้ว แต่โอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในโลกที่ครอบคลุมลูกค้าจำนวนหลายพันล้านคน
มีเฉพาะประเทศที่มี "ผู้นำ" ที่ "มองกว้างคิดไกล" เท่านั้นที่จะสามารถหาช่องทางที่จะเพิ่ม
"ขีดความสามารถ" ในการเข้าไปแข่งขันเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทั้ง "ภาครัฐ"
และ "ภาคเอกชน" ที่จำเป็นต้องคิด "นวัตกรรม" ใหม่ ๆ ในการ "ผลิต"
และการ "บริการ" มิใช่แค่พยายามรักษาสถานภาพการ "ผลิต" และการ "บริการ"
แบบเดิม ๆ แต่จำเป็นที่จะต้องหา "เทคโนโลยี" ใหม่ ๆ มาสร้าง "นวัตกรรม" ใหม่ ๆ ที่เพิ่มทั้ง "คุณค่า" และ "มูลค่า" ของการ "ผลิต" และ "บริการ"
ให้สูงขึ้น คงต้องยอมรับนะครับว่าโลกสมัยใหม่แข่งขันกันด้วย "ฐานความรู้" ซึ่งเป็น
"แก่น" สารสาระที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคิดสร้าง
"โครงสร้างเศรษฐกิจ,สังคมและการเมือง" ใหม่บน "ฐานความรู้" จึงเป็น
"วาระแห่งชาติ" ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของประเทศในอนาคตครับ
เมื่อไม่นานมานี้ "IMD" หรือ "สถาบันทางการบริหารงานพัฒนาระหว่างประเทศ"
( International
Management Development) ซึ่งตั้งอยู่ที่ "สวิสเซอร์แลนด์"ได้เปิดเผยผลการศึกษาขีด
"ความสามารถในการแข่งขัน" ระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ.2554 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของ
"ไทย" ได้ตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 27 ของประเทศที่ทำการสำรวจทั้งสิ้น 59 ประเทศ
ซึ่งในการจัดลำดับขีด "ความสามารถในการแข่งขัน" ที่ว่านี้ "IMD" วัดจากปัจจัยต่าง
ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดจนการบริหารราชการ เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด
ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการแข่งขันทางด้านการนำประเทศเข้าสู่สังคม
"ฐานความรู้" เพราะปรากฏว่า "ไทย" ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 56 ในเรื่องจำนวนผู้ใช้บริการ
"เครือข่ายการสื่อสารสมัยใหม่" ในด้าน "การผลิต" ก็อยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน
เพราะปรากฏว่าขีด "ความสามารถการแข่งขัน" อยู่ในอันดับเกือบ "ท้ายตาราง" ในแทบทุกสาขา "การผลิต" ขณะที่ "ภาคเกษตร" อยู่ในอันดับที่ 55 "ภาคบริการ"
อยู่ในอันดับที่ 54 ส่วน "ภาคอุตสาหกรรม" อยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 59
ประเทศที่ได้ทำการสำรวจ
ส่วนขีดความสามารถการแข่งขันในเรื่อง
"โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี"ของ "ไทย" อยู่ในอันดับที่ 52 ซึ่งบรรดาประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ
1 ใน 10 ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ได้ปรับตัวเองให้เข้าสู่ระบบโครงสร้างใหม่ที่ตั้งอยู่บน
"ฐานความรู้" แล้วทั้งสิ้น ในปีนี้ปรากฏว่า "ฮ่องกง"
ปรับตำแหน่งจากอันดับที่ 2 เป็นอันดับที่ 1 "สิงคโปร์" ตามมาติด ๆ คืออยู่ในอันดับที่
2 "สหรัฐ-อเมริกา" ตามมาเป็นอันดับ 3 ติดตามด้วย "สวีเดน" , "สวิตเซอร์แลนด์",
"ไต้หวัน", "แคนาดา", "ออสเตรเลีย" และ "เยอรมนี" ตามลำดับ
การที่ประเทศอันเป็นที่รักของเราจะสามารถปรับปรุง
"ความสามารถในการแข่งขัน"
ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก ถ้าหากเรายังคงวุ่นวายกับการ
"เล่นการเมือง" ที่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน (และพวกพ้อง) มากกว่าประโยชน์ส่วนรวมดังเช่นในปัจจุบัน อนาคตก็คงจะมีแต่ "ถดถอย" ลงไปอีก และยิ่งถ้าหากเราไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูป
"โครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง" ให้ตั้งอยู่บน "ฐานความรู้"ในโลกการค้าการลงทุนที่
"ไร้พรมแดน" ดังเช่นในปัจจุบันนี้ อนาคตก็ช่างน่าห่วงเป็นอย่างยิ่งครับ
|