ธนาคารกลาง "สหรัฐฯ" หรือ
"เฟด" กำลังพิจารณานำมาตรการต่าง ๆ อย่างน้อย 3 มาตรการ เพื่อหาแนวทางในการลดดอกเบี้ย,ลดอัตราเงินเฟ้อ
รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน ส่วนรายละเอียดและความชัดเจนของมาตรการต่าง ๆ
นั้นน่าจะมีขึ้นในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ "เฟด" ระหว่างวันที่
20-21 กันยายนศกนี้ ปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้ "เฟด" ต้องเร่งนำมาตรการต่าง
ๆ ออกมาใช้นั้นได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับอัตรา "เงินเฟ้อ" ขณะเดียวกันกับที่ตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น
ๆ กลับดูเลวร้ายลง ทำให้ "เฟด" จำเป็นต้องเร่งหาหนทางกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
"นายเบน เบอร์นานคี" ประธาน "เฟด" ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าพร้อมพิจารณาทุก
ๆ ช่องทางที่เป็นไปได้ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ จะเริ่มขึ้น
จากผลการศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของ "สหรัฐฯ" (ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา) พบว่าเศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
แต่กิจกรรมทางธุรกิจยังมีความไม่มั่นใจในระดับสูง ในช่วงเวลาที่สถานการณ์เป็นปกติ
"เฟด" มักจะใช้มาตรการขยับอัตราดอกเบี้ย "เฟดฟันด์ เรต" ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารให้กู้ยืมแก่กันระยะสั้น
เป้าหมายเพื่อให้ส่งผลต่อการปล่อยกู้ การลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ซึ่งในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเกือบ
0% แล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้ใช้มาตรการซื้อ "พันธบัตรรัฐบาล"รวมทั้ง "ตราสารหนี้"
อื่น ๆ ไปแล้วถึง 2.325 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับลดลงมา
ทำให้หลายฝ่ายเฝ้าจับตาว่า "เฟด" ยังจะมีมาตรการอะไรที่จะนำมาใช้ได้อีก
ซึ่ง "เฟด" กำลังมองหามาตรการทางเลือกอันเป็นทางรอดอื่น
ๆ อยู่ซึ่งมาตรการที่หนึ่งนั้นได้แก่ การปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของ
"เฟด" ให้เป็นตราสารที่มีอายุในการชำระระยะยาวมากขึ้นและลดการถือครองตราสารที่มีอายุการชำระระยะสั้นลงไป
มาตรการดังกล่าวเรียกในตลาดการเงินว่า "Operation Twist" แต่สำหรับธนาคารกลาง
"สหรัฐฯ" เรียกมาตรการลักษณะนี้ว่า "Maturity Extension" ซึ่งเป็นการยืดอายุการชำระหนี้ออกไป
เป้าหมายก็เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดต่ำลงเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
มาตรการดังกล่าวคล้ายคลึงกันกับที่เคยถูกนำมาใช้ช่วงทศวรรษ 1960 โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
โดย "เฟด"ตั้งความหวังว่ามาตรการใหม่ที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
เพราะเชื่อว่ามีธุรกิจอีกจำนวนมากที่รอตัดสินใจลงทุนและจ้างงานเพิ่มเมื่อต้นทุนการกู้ยืมปรับต่ำลง
อีกทั้งมีผู้คนจำนวนมากรอตัดสินใจ "ซื้อบ้าน"หรือ "รีไฟแนนซ์บ้าน" ทันทีที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวลดลง
แต่การนำมาตรการนี้มาใช้อาจส่งผลถึงสภาวะ "เงินเฟ้อ" แต่ "เฟด"
ดูจะไม่มีทางเลือกมากนักจำเป็นต้องนำมาตรการระดับเข้มข้นมาใช้เพื่อลดอัตราว่างงานลงมาให้ได้
สำหรับมาตรการที่สอง คือ การลดหรือยกเลิกอัตราดอกเบี้ย
0.25% ที่ "เฟด"จ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่นำเงินสดมาสำรองไว้กับ "ธนาคารกลาง" ทั้งนี้ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าดอกเบี้ยอัตรา 0.196% ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุ
2 ปี จะได้รับ บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า "เฟด"ไม่ควรจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ฝากเงินสดไว้กับ
"เฟด" เอง แทนที่จะเอาเงินไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจและภาคประชาชน ถ้า "เฟด"
ลดดอกเบี้ยที่ให้กับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินสดมาฝาก ธนาคารเหล่านั้นก็จะมีแรงผลักดันให้นำเงินไปปล่อยกู้มากขึ้น
ทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ "สหรัฐฯ" ให้ก้าวไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตามยังมีเสียงคัดค้านเช่นกันว่า มาตรการที่สองนี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงบวกมากนัก
เพราะในปัจจุบันดอกเบี้ยก็มีอัตราต่ำอยู่แล้วและดีไม่ดีก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินกู้ระยะสั้น
ส่วนมาตรการทางเลือกที่สาม คือ
การให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นของ "เฟด"เกี่ยวกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและแผนการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย
เนื่องจากในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา "เฟด" ได้ออกมาประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปจนถึงปี
2556 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนพอว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ตัดสินใจเช่นนั้น
ก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันที่จะมีการประชุม
"นโยบายการเงินฯ" ถ้าเศรษฐกิจของ "สหรัฐฯ" ยังคงอ่อนแอต่อไป หรือถ้าต้องเผชิญปัจจัยกระทบรุนแรงจากภายนอก
ผมคิดว่า "เฟด" คงไม่มีทางเลือกครับ จะต้องพิจารณานำมาตรการใหม่ ๆ ที่หลากหลายมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าเศรษฐกิจของ
"สหรัฐฯ" จะฟื้นตัวขึ้นมา ดังนั้น "เฟด" จึงต้องทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น
ซึ่งผลของการประชุมที่ทั้งโลกกำลังจับตาดูอยู่จะ "ออกหัวออกก้อย" อย่างไรนั้น
วันที่ 20-21 กันยายนนี้ก็คงได้รู้กันครับ
|