ในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี
ซึ่งเรียกกันติดปากว่า "วันศิลป์ พีระศรี"ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาตราจารย์ศิลป์
พีระศรี ผู้เปรียบเสมือน "บิดาแห่งวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย" และเป็นผู้วางรากฐาน "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ซึ่งในปีนี้มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่งเพราะได้เวียนมาบรรจบครบรอบ
120 ปี ครับ ซึ่งประวัติโดยสังเขปของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า
คอราโด เฟโรชี (Corrado Feroci ) เป็นชาว "ฟลอเรนซ์"
ประเทศ "อิตาลี" ซึ่งเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมากในศตวรรษที่ 14 และยังถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของยุค
"เรอเนซองส์" เต็มไปด้วยศิลปกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายและสกุลช่าง "ฟลอเรนซ์" ได้ส่งอิทธิพลไปทั่วโลกมาตราบจนทุกวันนี้ เมื่อเยาว์วัยท่านชื่นชมผลงานศิลปกรรมของ
"ไมเคิล แองเจโล" ประติมากรเอกของโลกซึ่งเป็นชาว "ฟลอเรนซ์"
เช่นเดียวกับท่าน เมื่อโตขึ้นจึงได้เข้าศึกษาที่ ราชวิทยาลัยศิลปะนคร
"ฟลอเรนซ์" ( The Royal Academy of Art of Florence) จบการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อยเพียง
23 ปี เท่านั้น และเข้าสอบชิงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ผลงานที่ชื่อเสียงโด่งดัง
คือ การได้รับรางวัลชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์หลายแห่งในอิตาลี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เข้ามามีบทบาททางด้านศิลปกรรมไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ท่านได้เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องการช่างศิลป์ที่มีฝีมือ จึงได้ทำการคัด เฟ้น
ยอดฝีมือ จากเมือง "ฟลอเรนซ์" กว่า 200 ท่าน และจากการที่ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป
ท่านจึงได้รับคัดเลือกเข้ามารับราชการในสยามประเทศ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะอย่างเฉียบคมว่า "ธรรมชาติเป็นครู" ก็หมายความว่า
คนที่จะทำงานศิลปะได้ดีนั้นจำเป็นต้องทำให้เสมือนจริงอย่างธรรมชาติให้ได้ก่อน แล้วจึงดัดแปลงหรือปรับปรุงต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแนวคิด "ธรรมชาติเป็นครู" ของท่านเมื่อท่านลงมือปั้นพระพุทธรูปองค์พระประธาน
(ที่มีลักษณะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางลีลา) ที่ "พุทธมณฑล" ซึ่งท่านมีความคิดว่าพระพุทธเจ้าก็เปรียบเสมือนมนุษย์
ท่านจึงคิดว่าเอากายภาพของมนุษย์แล้วมาห่อหุ้มด้วยผ้า โดยเริ่มปรับจากศิลปะโบราณมาเป็นงานศิลปะสมัยใหม่
ซึ่งถือว่าศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ริเริ่มงาน "ศิลปะร่วมสมัยของไทย"
โดยนำเอาความเป็น "ตะวันออก"และ "ตะวันตก" ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากท่านได้ฝากผลงานทางด้าน "ศิลปกรรม"ต่าง ๆ เอาไว้มากมาย อาทิเช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สวนลุมพินี,
พระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ที่นครราชสีมา, รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ถนนราชดำเนิน ฯลฯ แล้วท่านยังทิ้งคำสอนให้อนุชนรุ่นหลังในเรื่องของการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง
ดีงาม ให้เราได้เรียนรู้ว่า ศิลปกรรมคืออะไร, ศิลปะในการใช้ชีวิตคืออะไร,
ศีลธรรมคืออะไร, จริยธรรมคืออะไร ตลอดจนความเสียสละให้กับประเทศชาติบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน


นอกจากนั้นท่านศาสตราจารย์ศิลป์ ยังกล่าวไว้อีกว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ซึ่งหมายถึง "ศิลปกรรม" ในแขนงต่าง ๆ นั้น จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปีแต่ชีวิตของมนุษย์นี้ช่างแสนจะสั้นนัก
เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของ "ศิลปกรรม" ดังนั้นเราชาว "คนรักบ้าน"
ควรมาช่วยกันจรรโลงให้ "ศิลปะนั้นยืนยาว" สมกับที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้วางรากฐานทาง "ศิลปกรรมร่วมสมัย" ให้กับคนไทยไว้ครับ
ก็ขอเชิญ "คนรักบ้าน"
ทุกท่านที่รักในงานศิลป์เข้าร่วมงานวัน "ศิลป์ พีระศรี" ในวันที่ 15 กันยายนนี้
ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หน้าพระลาน เพื่อระลึกถึงปูชนียบุคคนท่านนี้ผู้เปรียบเสมือน
"บิดาแห่งวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย" กันครับ
|