สวัสดีครับแฟน ๆ ชาว "คนรักบ้าน" สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ก็ถือได้ว่าเป็นวาระพิเศษเป็นอย่างยิ่ง
และเป็นวาระอันเป็นมงคลเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะผมได้เริ่มกระบวนการจัดตั้ง "มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์"
อย่างเป็นทางการแบบจริง ๆ จัง ๆ กันเสียทีหลังจากตั้งท่า,รำมวยกันมายาวนานกว่า 6 ปี
ซึ่งก็สืบเนื่องมาจาก ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผมได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับ
"อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน" ก็มีแฟนจากภูมิภาคต่าง ๆ จากทั่วทุกสารทิศได้ร้องขอแบบทางสถาปัตยกรรมรวมทั้งแบบทางวิศวกรรมหรือแบบ
"พิมพ์เขียว" ของ "บ้านไม่บาน" ในแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย รวมไปถึง บรรดาพระสงฆ์
ที่ร้องขอแบบที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถานกันเข้ามามากมาย ซึ่งผมก็ได้สนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มกำลังตามความรู้ความสามารถ
ผลจากการทำงานติดต่อกันมาหลายปีทำให้ผมมีแบบพิมพ์เขียวของบรรดาอาคารประเภทต่าง ๆ อาทิเช่น
กุฏิพระ, ศาลาปฏิบัติธรรม, พระอุโบสถ, เมรุเผาศพ, ฯลฯ มากมายหลายรูปแบบที่ผมได้ออกแบบขึ้นและทำการเผยแพร่เป็นวิทยาทาน
ผมจึงมีดำริที่จะรวบรวมแบบพิมพ์เขียวต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อมิให้กระจัดกระจายและสูญหาย
รวมทั้งเป็นพื้นฐานต่อไปในอนาคตเพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเพื่อพัฒนารูปแบบ "อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน" ที่ร่วมสมัยใหม่ ๆ ที่สวยงามขึ้น,ดีขึ้น ก่อเกิดประโยชน์สูงขึ้น และประหยัดมากขึ้น
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ รวมไปถึง แบบ "บ้านไม่บาน" ยอดนิยมต่าง ๆ ก็จะถูกเก็บไว้ที่
"มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์" นี่แหละครับ

ที่ไปที่มาของชื่อ "มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์" ที่ใครได้ยินได้ฟังครั้งแรกก็แปลก
ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไร เพราะคำว่า "พูน" ก็มาจากคุณยายผม ชื่อ
"คุณยายทองพูน" ส่วน "จิตต์" ก็มาจากชื่อ คุณแม่ผม คือ "แพทย์หญิงขวัญจิตต์"
และคำว่า "สวัสดิ์" ก็มาจากชื่อ คุณพ่อผม คือ "ปลัดสวัสดิ์" หรือ "สท.สวัสดิ์"
ซึ่งเป็นยศนายสิบโทครั้งยังเป็น "เสรีไทย" ผมก็เลยเอาชื่อของคนที่ผมรักทั้ง
3 ท่าน มาผสมกัน ก็เกิดเป็นความหมายใหม่ที่มีคุณค่าครับ คือ "จิตที่เพิ่มพูนไปด้วยความสวัสดิมงคล" อันเกิดจากการกระทำที่เป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งผมมักพูดเสมอครับว่า คนทุกคนในสังคมมี "หน้าที่ทางจริยธรรม"
ที่พึงทำ หากช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้ว สังคมที่เราอยู่ในภาพรวมก็จะน่าอยู่ขึ้น คนที่เข้มแข็งกว่าก็ควรที่จะเสียสละยื่นมือเข้ามาช่วยคนที่อ่อนแอกว่า
ใครถนัดอะไร มีความรู้ความสามารถด้านไหนก็ลงมือทำไปในด้านนั้น เป็นกระบวนการเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่กัน มีอะไรก็แบ่งปันกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันครับ

สำหรับผมแล้วในฐานะสถาปนิก, นักวิชาการ, นักวางผัง รวมถึงเป็นอาจารย์สอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งในระดับปริญญาตรี,โทและเอก ก็คงไม่มีอะไรตอบแทนคืนให้กับสังคมได้ดีไปกว่า
การให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบและการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในรูปแบบต่าง ๆ โดยผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าในอนาคตจะทำแบบ
"พิมพ์เขียว" ของบรรดา "อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน" ขึ้นมาอีกหลายสิบรูปแบบและก็มีความมุ่งมั่นว่าจะทำเรื่อย
ๆ ไปครับ จนกว่าจะหมดแรง ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการทะนุบำรุงดูแลศาสนาและบรรดาอาคารสารธารณะประโยชน์
ท่านเคยทราบไหมครับว่าจากข้อมูลของ "กองพุทธศาสนสถาน" ในประเทศไทยของเรามีวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ถึง
39,481 วัด เป็นพระอารามหลวง รวม 310 วัด และเป็นวัดราษฎร์ รวม 39,171 วัด เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
23,168 วัด วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 16,313 วัด และมีวัดที่กำลังตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมและถูกทิ้งร้างถึง
6,090 วัด กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วศาสนาไม่ได้เสื่อมหรอกครับ
และผมก็เชื่อว่าศาสนาก็จะไม่มีวันเสื่อม ที่เสื่อมก็คือคนที่นับถือศาสนา รวมทั้งบรรดาเกจิอาจารย์ต่าง
ๆ ที่ตีความพระธรรมคำสอนเข้าข้างตัวเอง หาประโยชน์ให้กับตัวเอง

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดตั้ง "มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์"
นอกจากจะทำการแจกจ่ายแบบพิมพ์เขียวให้กับสาธารณะและวัดวาอารามแล้ว ก็ยังมีเป้าหมายว่าจะสอนผู้คนให้มีความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบและการก่อสร้าง "อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน" ทั้งยังเป็นการเดินตาม
"รอยพระบาท" อันเป็น "ศาสตร์พระราชา" ที่ว่าด้วยแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง"
และ "ทฤษฎีใหม่" อย่างเคร่งครัดครับ
สาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ผมก็ขอนำเสนอรูปแบบต่าง
ๆ ที่หลากหลาย ที่ทาง "มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์" จะทำการเผยแพร่ให้วัดวาอารามต่าง
ๆ และบรรดาองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจไม่ว่าจะเป็น "เมรุเผาศพแบบพอเพียง" , "กุฏิพระแบบพอเพียง"
, "พระอุโบสถแบบพอเพียง" และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต สำหรับท่านที่ต้องการให้
"มูลนิธิพูนจิตต์สวัสดิ์" ช่วยสิ่งใด ก็ติดต่อเข้ามา โดยที่ท่านสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่
ผศ.ดร.ภัทรพล เวทยสุภรณ์ เลขที่ 1 อาคารคชา ซอยประชาสงเคราะห์ 12 ถนนประชาสงเคราะห์
แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 หรือส่ง "อีเมลล์" แจ้งความประสงค์ที่
ครับ
|