สวัสดีครับแฟน ชาว "คนรักบ้าน" หลายพื้นที่ก็ตกอยู่ในสภาวะ "บ้านน้ำท่วม" เพราะเข้าสู่ช่วงต้นของฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบก็คงต้องลุ้นระทึกกันอีกหลายเดือนครับว่าปีนี้ชาว "คนรักบ้าน" จะต้องเผชิญหน้ากับสภาวะ "น้ำท่วม" ที่หนักหนาสาหัสกันแค่ไหน ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ มีแต่ว่าจะท่วมมากท่วมน้อย ท่วมหนักท่วมเบา ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของเทวดาบนฟ้าว่าท่านจะโปรยฝนลงมาหนักหนาสาหัสเพียงใด นอกจากนั้นก็ยังจะต้องไปลุ้นระทึกกันอีกในช่วงปลายฝนต้นหนาว
ที่ต้องเจอกับสภาพน้ำไหลหลากจากทางภาคเหนือครับ

ก็คงต้องยอมรับนะครับว่าประเทศของเราเมื่อในอดีตประมาณ 30
ปีที่แล้วเราเคยมีป่าไม้ที่เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีเนื้อที่ถึง 273,629.00
ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ถึง 53.33 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบันคนไทยได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้สติ
ตัดไม้ทำลายป่ากันแบบสิ้นซากแบบ "ขุดรากถอนโคน"
ไม่ต้องเหลือไว้ให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้ใช้กันเลยทีเดียว ผลคือ
ป่าไม้ที่ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำขนาดยักษ์ตามธรรมชาติ ที่สามารถดูดซับน้ำและชะลอการไหลของน้ำ รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้เมื่อฤดูแล้งเข้ามาเยือน เมื่อขาดป่าไม้ก็เป็นผลให้เกิดสภาพน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าก็ได้ชะล้างหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์
ให้ไหลไปตามกระแสน้ำ นอกจากนั้นยังทำให้แม่น้ำ,ลำคลอง,หนอง,บึงตกอยู่ในสภาพที่ตื้นเขิน ก็เกิดเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันเป็นลูกโซ่ครับ ในปัจจุบันประเทศไทย มีป่าไม้เหลืออยู่เพียง 102,240981.88
ไร่ ที่เป็นพื้นที่ไม่ถึง 31.60 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในปัจจุบันในปัจจุบันการตัดไม้ทำลายป่ารวมทั้งเผาป่าก็ยังมีอยู่ให้เห็นกันทั่วไป ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างที่เราเห็นเราเป็นนี่แหละครับ

คงจะจำกันได้นะครับเมื่อ
6 ปี ที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ อุทกภัยดังกล่าวทำให้พื้นดินกว่า
150 ล้านไร่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน
65 จังหวัด 684 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือนกว่า 13,595,192 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง
พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961
สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,919 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41
ล้านตัว ทังยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 813 ราย (44 จังหวัด)
สูญหาย 3 คน นับได้ว่าเป็นความสูญเสียที่หนักหนาสาหัสเป็นอย่างยิ่งครับ
ในช่วงนั้นผมก็ได้มีโอกาสเดินสายบรรยายเรื่องรูปแบบ "บ้านไม่บาน"
ที่เรียนรู้อยู่ร่วมกับ "น้ำท่วม" กับ
"ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" ซึ่งท่านเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติในรูปแบบต่าง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวและอุทกภัย ผมก็ได้ถามท่านว่าโอกาส "น้ำท่วม" หนักหนาสาหัสขนาดนี้ในอนาคตจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่และจะมีความรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งท่านก็ตอบผมว่า หากคนไทยยังไม่มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ
รับรองล้านเปอร์เซ็นต์ก็จะเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีกอย่างแน่นอนและมีแนวโน้มว่าในครั้งหน้าจะรุนแรงและหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ
และปริมณฑล ซึ่งมีลักษณะเป็น "Delta" อันเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอน บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ซึ่งในอดีตชายฝั่งทะเลได้รุกล้ำเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ถึง
"สระบุรี", "ลพบุรี", "โคราช"
เลยทีเดียวครับ
ถ้าหากเราพิจารณาดู "หินกาบ" ที่อยู่บริเวณ "ปากช่อง" ก็จะเห็นชั้นของการทับถมของหินอย่างชัดเจน เผลอ ๆ เห็นเป็นสาหร่ายใต้ทะเล จากการทับถมของดินตะกอนบริเวณปากแม่น้ำซึ่งทาง
"ธรณีวิทยา" ถือว่าเกิดขึ้นมาใหม่นี่แหละครับทำให้ในปัจจุบันดินบริเวณ "กรุงเทพฯ"
และปริมณฑลในบางพื้นที่เกิดการทรุดตัว รวมถึงการขุดเจาะนำใช้น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ทำให้เร่งอัตราการทรุดตัวของระดับพื้นดินเร็วขึ้น ลองนึกภาพน้ำหลากจากทางเหนือและน้ำหนุนจากทะเลประกอบกับการทรุดตัวของระดับพื้นดิน
ผมก็ไม่แปลกใจหรอกครับว่าน้ำท่วมใหญ่ในครั้งหน้าก็จะหนักหนาสาหัสกว่าในอดีตขึ้นเรื่อย
ๆ
ที่ผมร่ายมาเสียยืดยาวก็เพราะในใจลึก ๆ เกิดความกังวล แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเราไม่ทำอะไรกันเสียจริง
ๆ จัง ๆ
เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ "น้ำท่วม" อย่างทรนงและองอาจ ผมนึกถึงคำสอนของ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ที่ว่าด้วยเรื่องการ "เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา" แล้วเราเข้าใจสภาพ "ภูมิศาสตร์", "ภูมิสังคม" ของ "วัฒนธรรมการกิน อยู่" ของชนชาว "สยาม" ที่ได้เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำหลาก,น้ำท่วมอย่าง "เข้าใจ เข้าถึง"
มายาวนานนับร้อยปี คนไทยแต่โบร่ำโบราณ รวมถึง "คุณย่า" ผมที่ปัจจุบันท่านมีอายุยืน 104
ปีแล้ว แต่ก็ยังคงไม่หลงไม่ลืมและยังแข็งแรงตามสภาพ
บ้านของ "คุณย่า" อยู่ "บางแพ", "ดอนใหญ่" จังหวัด
"ราชบุรี" ครับ เป็นหมู่ "เรือนไทย"
แบบ "เครื่องสับ" โบราณยกพื้นสูงที่เรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับน้ำท่วมหลากมาทุกปี
อย่างน้อย 5-6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อของเดือน 11-12 ก็ราว
ๆ "ตุลาคม" ถึง "พฤศจิกายน" ก็เห็น "คุณย่า" ของผมท่านมีความสุขดี ในช่วงน้ำท่วมก็พายเรือไปไหนต่อไหนได้อย่างสะดวกสบาย กุ้ง,หอย,ปู,ปลา หลากพันธุ์ก็อุดมสมบูรณ์ที่มาตามน้ำหลาก เรียกว่ามีมากจนล้นจับกันไม่หวาดไม่ไหว ต้องทำปลาแห้ง,ปลาเค็ม,น้ำปลา,ปลาร้า ฯลฯ
ซึ่งเป็น "ภูมิปัญญา" ในการถนอมอาหาร จึงจัดได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขอย่างแท้จริงครับ น้ำที่ท่วมหลากมาก็นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
สำหรับในสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอแบบ "บ้านไม่บาน"
ที่เรียนรู้อยู่ร่วมกับอุทกภัย "น้ำท่วม" ประเภท "ยอดนิยมตลอดกาล" (All Times Hit) ซึ่งผมได้ออกแบบไว้เมื่อเกือบสิบกว่าปีที่แล้วก็ยังดูดีอยู่ ก็ถือว่าเป็น "บ้านไม่บาน" ในสไตล์ "อกาลิโก +ไฮโซ + โลว์คอส" อย่างแท้จริง
คือ "สวยประหยัด", "สวยดูดี",
"สวยมีชาติตระกูล", "สวยทน",
"สวยทาน", "สวยนาน", "สวยไม่สร่าง", "สวยซ่อมง่าย" และข้อสำคัญคือ "สวยแบบไม่กลัวน้ำท่วม" เป็นรูปแบบบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง สำหรับครอบครัวเล็ก
ๆ ที่กำลังก่อร่างสร้างชีวิตในบริเวณพื้นที่ที่น้ำเคยท่วม ซึ่งผมรับประกันว่าอย่างไรเสียน้ำก็ต้องกลับมาท่วมอีกแน่นอนครับ ท่านผู้อ่านก็ลองนำแบบ "บ้านไม่บาน" ทั้งสองแบบนำไปปรับประยุกต์ใช้รับรองว่าดีแน่
อีกสองสัปดาห์หน้ามาดูกันว่า แบบ
"บ้านไม่บาน" ที่ "เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำท่วม"
ที่มีขนาดหลังใหญ่ขึ้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
แล้วพบกับสาระน่ารู้ได้ใหม่ในอีกสองสัปดาห์หน้าครับ
|