สวัสดีครับแฟน ๆ พันธ์แท้ชาวคนรักบ้าน ผมมีข่าวจะมาเล่าสู่กันฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเลือกจาก บริษัท กระเบื้องหลังคา ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ให้เป็นหนึ่งในสิบ สถาปนิก ที่มีผลงานโดดเด่น ในตอนแรกผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่า มีท่านใดอยู่บ้างและสาเหตุที่เลือกผมให้ผมเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นเพราะเหตุใด แต่พอถามไปถามมาก็พอจะจับเค้าลาง ๆ ได้ว่า ในบรรดาสถาปนิกทั้ง 10 ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นมีตั้งแต่รุ่นครูบาอาจารย์ระดับศิลปินแห่งชาติที่ได้ฝาก ฝีไม้ ลายมือ ในการออกแบบอาคารบ้านเรือน จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก อาทิเช่น รศ.ฤทัย ใจจงรัก และ อาจารย์ วนิดา พึ่งสุนทร รวมไปถึงปรมาจารย์ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้นและการวางผัง อย่างเช่นท่าน ศาสตราจารย์ ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ ซึ่งบรรดาปรมาจารย์ทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น "ครู" ที่ได้ประสิทธิ์ ประสาทวิทยาการความรู้ให้กับผมทั้งสิ้น รูส่วนผมก็ได้รับเลือกให้อยู่ในอันดับรอง ๆ จากบรรดาท่านผู้อาวุโสเหล่านี้หละครับ ซึ่งเหตุผลที่ผมได้รับเลือกก็เพราะผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่ยอมรับในแบบพอเพียง ส่วนบรรดาสถาปนิกที่ได้รับเลือกถัดจากผมก็เป็นเหล่าบรรดาสถาปนิกรุ่นใหม่ หัวทันสมัย ออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อย่างเช่น คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ก็เป็นรุ่นลูกศิษย์ครับ
จะว่าไปแล้วการที่ผมได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมมีอาการดีใจหรือเสียใจแต่อย่างใดครับ ชีวิตก็ยังดำเนินไปตามปกติ ยังคงทำงานตามปกติเหมือนเดิม เหนื่อยนักก็พักสักครู่ พอหายเหนื่อยแล้วมีเรี่ยว มีแรง ก็ค่อยทำงานต่อไป ขอเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัว เผยแผ่เรื่อง "ความพอเพียง" ให้ขยายออกไปในวงกว้าง ไม่อยากดี เด่น ดัง แข่งกับใคร ขอมุ่งทำงานไปตามจริยธรรมของวิชาชีพที่ครูบาอาจารย์ได้ประสิทธิ์ ประสาท วิชาความรู้ทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อให้สถาปัตยกรรมได้ถูกนำมารับใช้มนุษย์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สมบูรณ์ถึงพร้อมเป็นอาคารบ้านเรือนที่งามง่าย พอเพียง อันเป็นทั้งที่รักและที่พักครับ
สำหรับสาระของคนรักบ้านในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์แบบเจาะลึกของ อาคารสหกรณ์เครดิตยูเนียน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งในอาคารหลังนี้จะประกอบไปด้วย บริเวณร้านค้า สำนักงาน ห้องจัดประชุมสัมมนาและที่พักอาศัย กว่า 20 หน่วย โดยมีขั้นตอนในการออกแบบดังนี้ครับ
กิจการสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นเป็นหัวใจสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพราะทำธุรกิจธุรกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการออม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สหกรณ์ร่วมใจท่ายางนั้น ตั้งอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความงดงามในด้านศิลปวัฒนธรรม นอกจากนั้นเมืองเพชรบุรียังเป็นเมืองที่เก่าแก่และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานับประการรวมทั้งบริบททางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง พ.ศ. 2310 นั้น พระนครศรีอยุธยา ฯ ก็ถูกกองทัพพม่าเผาทำลายลงจนสิ้น แต่เมืองเพชรบุรีมิได้ถูกเผาทำลายยังคงรักษาความเป็นชุมชนเมืองเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ก่อเกิดเป็นสกุลช่างเมืองเพชรที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแขนงต่าง ๆ เช่น ช่างปรุงเรือนเมืองเพชร , ช่างปูนปั้นเมืองเพชร , ช่างทองเมืองเพชรและสกุลช่างอีกหลายต่อหลายแขนง อันเป็นของดีมีอยู่ที่ต้องอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาไว้มิให้สูญหาย
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรหลายแห่งได้ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบของผม โดยเริ่มจากพระนครคีรี เป็นพระราชวังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสร้างเอาไว้และพระราชวังบ้านปืนหรือพระรามราชนิเวศน์ที่สร้างขึ้นในช่วงรอยต่อของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และ 6 เป็นผลงานของสถาปนิกวิศวกรชาวเยอรมัน ชื่อนายคาร์ล ดอร์ริ่ง และพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง คือ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับตากอากาศ ซึ่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นกลุ่มเรือนพักอาศัยทรงปั้นหยาและใช้ไม้สักเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการก่อสร้าง จัดได้ว่าเป็นกลุ่มเรือนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ นอกจากนั้นยังได้สะท้อนความงดงามของการผสมผสานของเรือนพักสมัยใหม่กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างลงตัว
โครงการนี้เป็นรูปแบบอาคารสหกรณ์แบบพอเพียง โดยพัฒนามาจากพื้นฐานทางความคิดในการออกแบบที่มาจากการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งสามแห่งของเมืองเพชรบุรี อันประกอบไปด้วย พระราชวังบ้านปืน พระนครคีรี และ พระที่นั่งมฤคทายวัน ถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันเกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบพอเพียงที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ ไปพร้อม ๆ กับ การใช้งานที่หลากหลายเป็นทั้งสำนักงานสหกรณ์,ห้องประชุม,ส่วนจัดเลี้ยงและห้องพัก รวมทั้งการใช้องค์ประกอบที่โดดเด่นหลายอย่างของสถาปัตยกรรมตะวันออก เช่น การใช้ระเบียงรอบลาน ทำให้สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี และยังทำให้เกิดพื้นที่นั่งเล่นเอนกประสงค์ที่ร่มเย็นสบายทั้งวัน
ผมขอย้ำนะครับว่า "การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์ที่จะนำเราไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงได้นั้น ต้องเป็นการพัฒนาที่ผลิหน่อต่อยอดจากของดีที่มือยู่เดิมอันเป็นรากเหง้าเดิมของชุมชนนั้น" พื้นที่หมดครับ ไว้ต่อในสัปดาห์หน้า แล้วคอยชมว่า จากภาพร่างที่เป็นแบบเสก็ต (sketch) จะสามารถคลี่คลายออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์ได้อย่างไร แล้วพบกันต่อในสัปดาห์หน้าครับ
|