 บุคคลที่ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างใช้ชื่ออาจารย์เชี่ยว ชอบช่วย หรือ ผศ.ดร.ภัทรพล เวทยสุภรณ์ และสำนักงานบ้านไม่บานไปใช้ในการหลอกลวงให้หลงเชื่อในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์,การออกแบบ,การก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งทางสำนักงานบ้านไม่บานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น หากท่านต้องการติดต่อกับทางสำนักงานต้องติดต่อโดยตรงที่เบอร์ 02-2451399 หรือ 02-6441478 เท่านั้น |
|
|
 |
ครบรอบ 120 ปี "ศิลป์ พีระศรี" |
|
|
ขั้นตอนการออกแบบเพื่อแสวงหาสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์ (2) |
สวัสดีครับแฟน ๆ ชาวคนรักบ้าน ดังที่ผมได้ย้ำเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึงแนวคิดที่ว่า "การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์อันจะนำเราไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ผลิหน่อต่อยอดจากของดีมีอยู่อันเป็นรากแก้วของชุมชน"ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นการผสมผสานความงดงามของสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองเพชร 3 แห่งหลอมรวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ พระราชวังบ้านปืน พระนครคีรี และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เกิดเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ทางศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ไปพร้อมกับการใช้งานที่หลากหลาย โดยใช้องค์ประกอบที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น เช่น การใช้ระเบียงรอบลาน ทำให้กันแดดกันฝนได้ดีเยี่ยม และเกิดพื้นที่นั่งเล่นเอนกประสงค์เย็นสบายทั้งวัน
ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอเบื้องหลัง เบื้องลึกกว่าจะเป็นอาคารที่งามง่าย พอเพียง อันเป็นทั้งที่รักและที่พักหลังนี้ รวมทั้งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ประหยัดพลังงาน อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ข่มมนุษย์ ข้อคิดต่าง ๆ เหล่านี้หละครับ เป็นหัวใจที่สำคัญของสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงและก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบของสถาปนิกที่มีผลงานโดดเด่นของกระเบื้องเจียระไนตราเพชร ในสัปดาห์นี้ผมได้นำรูปแบบของการคลี่คลายจากแบบร่างหรือภาพเสกตที่ได้นำเสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปแบบอาคารมีการศึกษาทั้งในด้านความสัมพันธ์ของมวลอาคาร รูปทรงอาคารและที่ว่างเปิดโล่งของอาคาร (ที่บรรดาสถาปนิกมักจะเรียกทับศัพท์ว่า mass , form & space) ซึ่งในการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ดีนั้น ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 องค์ประกอบจะต้องสมดุล ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาถึงวัสดุ อุปกรณ์ อาคารต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกันและยังจะต้องคิดไปไกลถึงระบบ ระเบียบ และวิธีการก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อนสร้างได้รวดเร็ว มีราคาประหยัดและจะทำอย่างไรให้ช่างท้องถิ่นสามารถก่อสร้างได้ เพราะหมายถึงเมื่อใช้อาคารไปได้ระยะหนึ่ง อาจจะเป็นระยะเวลา สิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า อาคารต้องการซ่อมบำรุงก็สามารถใช้ช่างท้องถิ่นที่มีอยู่เข้ามาดำเนินการได้
จะเห็นได้ว่าการที่จะทำการออกแบบเพื่อแสวงหาสถาปัตยกรรมหรืออาคารบ้านเรือนแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์ขึ้นมาสักหนึ่งหลังนั้น มิใช่ทำได้ง่าย ๆ จะต้องคิดและปฏิบัติเป็นแบบองค์รวม เอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ความรู้ทางด้านสภาพภูมิศาสตร์ที่ว่าด้วย ดิน ฟ้า อากาศ แดด ลม ฝน พืชพรรณไม้ รวมทั้งองค์ความรู้ทางภูมิสังคมที่ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอันเป็นมรดกของ ปู่ ย่า ตา ทวด ที่ได้สั่งสม รักษาเอาไว้ให้พวกเรา แต่น่าเสียดายนะครับ บางครั้งเรากลับไปหลงใหลได้ปลื้มกับกากเดนทางวัฒนธรรมแดกด่วนของต่างชาติ หลงลืมของดี มีอยู่ไปเสียฉิบ ผมจึงอยากจะวิงวอนแฟน ๆ ชาวคนรักบ้าน หากในอนาคตคิดจะสร้างอาคารบ้านเรือนก็อย่าลืมเตือนสติให้นึกถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์และต้องมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ในฝีมือช่างไทย และ เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมแบบพอเพียงของไทย
อาคารสหกรณ์แบบพอเพียง ท่ายาง เพชรบุรี หลังนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ครับว่า สถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่มีเอกลักษณ์ไม่ใช่อาคารที่เชย ล้าสมัยแต่ในทางกลับกันกลับเป็นอาคารที่ล้ำสมัย ใครเห็น ใครก็ชอบ ใครเห็น ใครก็ชม และสามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของอาคารอย่างครบถ้วน ลองหลับตานึกภาพดูสิครับว่าหากเรามีอาคารประเภทนี้อยู่เต็มบ้าน เต็มเมือง ไปหมด อยู่ที่ไหนก็สะท้อนความมีเอกลักษณ์ของที่นั่น ประเทศเราคงจะสวยงามไม่แพ้ประเทศใดในโลก หลายท่านอาจจะบอกว่าผมเป็นคนช่างฝันแต่ผมก็มักจะพูดเสมอว่า (ความฝัน ความหวังของผมที่จะทำให้บ้านสวย เมืองงามนั้น เป็นของฟรี ผมฝันได้ทุกวัน ไม่มีใครมาเก็บสตังค์หรอกครับ) แต่ถึงผมจะเป็นคนช่างฝันแต่อย่าให้ผมมีโอกาสนะครับ ผมลงมือทำทันที เหมือนอาคารสหกรณ์ที่มีเอกลักษณ์และพอเพียงที่ท่ายาง เพชรบุรี หลังนี้ ฝันจริง ออกแบบจริงและกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการก่อสร้างจริงครับ
|
|
|